คนที่รู้ทุกข์ ก็ไม่ใช่คนเป็นทุกข์ แต่คนต้องรู้ทุกข์ จึงจะดับทุกข์ได้
อริยสัจ ๔ จะรู้แต่อริยสัจไม่ได้ ต้องรู้กิจในอริยสัจด้วย มิฉะนั้นจะเสียดุลอีก ถ้าปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจผิด ก็พลาดไปเลย เพราะว่าอริยสัจ ๔ แต่ละข้อนั้น เรามีหน้าที่ต่อมันต่างกันไป
หน้าที่เหล่านั้นตรัสไว้แล้วในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี่แหละ ซึ่งเราก็สวดกันอยู่เรื่อยว่า “ทุกขอริยสัจนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องปริญญา” หน้าที่ต่อทุกข์ คือ ปริญญา แปลว่า กำหนดรู้ รู้เท่าทัน หรือรู้จักตัวมันให้ชัด
เรามีหน้าที่รู้ทุกข์ เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์
คุณหมอรู้โรค ก็ไม่ใช่คุณหมอเป็นโรค แต่คุณหมอต้องรู้โรค คุณหมอจึงจะบำบัดโรครักษาคนได้
คนที่รู้ปัญหา ก็ไม่ใช่คนเป็นปัญหา แต่คนต้องรู้ปัญหา คนจึงจะแก้ปัญหาได้
คนที่รู้ทุกข์ ก็ไม่ใช่คนเป็นทุกข์ แต่คนต้องรู้ทุกข์ จึงจะดับทุกข์ได้
การรู้ทันทุกข์ หรือรู้จักทุกข์ กับการเป็นทุกข์ ไม่ใช่อย่างเดียวกัน
การเป็นทุกข์ เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ต่ออริยสัจ ถ้าใครปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจผิด ก็ผิดพลาดออกนอกทาง
พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ใครเป็นทุกข์ แต่ทรงสอนให้รู้ทันทุกข์ แค่กิจในอริยสัจข้อที่หนึ่งนี้ หลายคนก็พลาด
หนังสือ จาริกบุญ จารึกธรรม
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)