คนที่ดําเนินชีวิตดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์ แม้ไม่รู้ตัวไม่ทันได้นึก ก็ได้ฝึกตนคือศึกษา มีสิกขาอยู่ตลอดเวลา จึงพัฒนาก้าวหน้าไปในมรรคาชีวิต ในการนี้ เพื่อให้การศึกษาพัฒนาชีวิตนั้นเกิดมีผลดีจริงจังชัดเจน เขาควรตระหนักรู้ถึงประโยชน์ที่ชีวิตควรได้ควรถึงซึ่งก็คือเป็นจุดหมายของการพัฒนาชีวิตนั้น ขอให้ดูพุทธพจน์นี้
“ผู้ไม่ประมาท เป็นบัณฑิต จะยึดเอาได้ซึ่งอัตถะ (ประโยชน์อันเป็นที่หมาย) ทั้ง ๒ อย่าง คือ อัตถะขั้นทิฏฐธัมม์ (ประโยชน์ที่ตามองเห็น) และอัตถะขั้นสัมปราย์ (ประโยชน์ที่ล้ำเลยตาเห็น), คนที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต ก็เพราะลุถึงอัตถะ”
อัตถะคือประโยชน์ที่หมาย ขั้นตาเห็นเป็นทิฏฐธัมม์ ก็คือชีวิตที่เป็นอยู่ดีด้านวัตถุรูปธรรมและสังคม ที่สําคัญคือมีสุขภาพ (บาลีนิยมใช้ว่า อายุ) มีทรัพย์ มียศเกียรติไมตรี มีครอบครัวที่สุขสมาน คําสอนแก่คฤหัสถ์ สําหรับประชาชนทั่วไปว่าด้วยการสร้างเสริมและปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้มีมาก ตั้งแต่ว่าจะให้สุขภาพดีมีอายุยืนก็ให้บริโภคด้วยปัญญา รู้คุณค่าแท้ มีมัตตัญญุตา รู้จักกินเสพให้พอดี สอนการคบหา อยู่รวมร่วมสร้างสรรค์ในสังคม ฯลฯ เป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม แต่ควรเน้นย้ำบ่อย ๆ แก่ชาวบ้านหมู่ชนคนทั่วไป
ต่อไป อัตถะขั้นเลยตาเห็นเป็นสัมปราย์ ว่าให้สั้นก็คือความเจริญงอกงามของชีวิตนั้น ที่พัฒนาดียิ่งขึ้นไป ทั้งกายวาจา (ศีล) จิตใจ และปัญญา ว่าในขั้นพื้นฐาน สําหรับทุกคนตั้งแต่ชาวบ้าน คือ
๑. ศรัทธา มีความเชื่อความมั่นใจที่ทําให้มุ่งไปในการทํากรรมดีและก้าวไปในมรรคาของการพัฒนาชีวิต
๒. ศีล มีพฤติกรรม แสดงออก ทําการทางกายวาจา ที่สุจริต เกื้อกูล ไม่ทําร้าย ไม่เบียดเบียน ไม่ทําเสียหาย
๓. จาคะ มีน้ำใจเสียสละ ไม่คับแคบเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับรู้รับฟัง ร่วมมือ เผื่อแผ่ช่วยเหลือ เพื่อธรรม เพื่ออัตถะ ข้างนอก สละเงินทอง ก็ง่าย ข้างใน สละกิเลส เช่น มัจฉริยะ มานะ ทิฐิ ก็ได้
๔. ปัญญา มีความรู้เข้าใจทั่วถึงเท่าทัน ที่จะดับทุกข์ภัยแก้ไขปัญหา และคิดการทํากิจให้สัมฤทธิ์ผลอย่างดี
บนพื้นฐานนี้ มีอัตถะขั้นสัมปราย์ที่จะให้ก้าวไปลุถึงได้มากมาย ตามแต่มรรคภาวนาจะก้าวไปด้วย การศึกษาแห่งไตรสิกขาได้แค่ไหน เฉพาะอย่างยิ่งสําหรับภิกษุซึ่งได้เข้าสู่สังฆะโดยมีชีวิตที่มุ่งจะก้าวไปในไตรศึกษาอย่างอุทิศตัว ท่านเน้นระดับสูงสุดของอัตถะขั้นสัมปราย์ ถึงกับแยกออกมาเป็นอัตถะอีกขั้นหนึ่ง เป็นระดับ ที่ ๓ เรียกว่าปรมัตถ์ หรืออัตถะขั้นบรม ซึ่งมุ่งจําเพาะให้ถึงประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีความหมายที่จะเรียกว่า วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ เกษม สุข นิพพาน ก็ได้ทั้งนั้น (ทุกคนมีศักยภาพที่จะลุถึงได้)
อัตถะคือประโยชน์ที่เป็นจุดหมาย มีเป็นขั้นเป็นระดับดังที่ว่านั้น และอัตถะเหล่านั้น ทุกคนควรได้ควรถึง โดยที่แต่ละคนควรช่วยเหลือเกื้อหนุนให้คนอื่นลุถึงด้วย ดังพุทธดํารัสที่ตรัสไว้อีกว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมองเห็นประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ก็ควรแท้ที่จะทําให้สําเร็จด้วยความไม่ประมาท, หรือเมื่อมองเห็นประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ก็ควรแท้ที่จะทําให้สําเร็จด้วยความไม่ประมาท, หรือเมื่อมองเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็ควรแท้ที่จะทําให้สําเร็จด้วยความไม่ประมาท
ตามหลักนี้ ทุกคนจึงควรทําเพื่ออัตถะ ๒-๓ ขั้นนั้น ทั้งแก่ตน แก่คนอื่น แก่กันและกัน และแก่ส่วนรวมร่วมกัน ทั้งนี้ เมื่อคนพัฒนาอัตถะของตน ก็ทําให้เขาเก่งยิ่งขึ้นในการทําเพื่ออัตถะของคนอื่นและของส่วนรวม
ข้อสําคัญก็คือ เมื่อคนทําเพื่ออัตถะของผู้อื่น เขาจะได้พัฒนาอัตถะของตนเองอย่างมาก เช่นในการแก้ปัญหาทําประโยชน์สําคัญ ให้แก่ผู้อื่นแก่ส่วนรวมแก่ชุมชนแก่สังคม คนจะได้พัฒนาความดีและปรีชาสามารถของตนอย่างยวดยิ่ง ดังที่ว่า บุคคลผู้ทําการเพื่อคนทั้งโลก เพื่ออัตถะสูงสุดของมวลมนุษย์ จะได้พัฒนาตนจนมีชื่อว่าเป็นมหาบุรุษ จนถึงเป็นพระโพธิสัตว์
เพื่ออัตถะทั้ง ๒-๓ ขั้น ในแดนอัตถะทั้ง ๓ จึงมีภาคปฏิบัติการทั้งหมดแห่งพุทธธรรม ฉะนี้
ลิงก์พุทธธรรมออนไลน์
https://book.watnyanaves.net/buddhadhamma/index.php?cid=566