"เล่าเรื่อง หลวงปู่ศรี มหาวีโร"
" .. ท่านมีบารมีไปทางหนึ่ง
"อาจารย์ศรี มหาวีโร อ่อนพรรษากว่าเรา เราเรียกท่านศรี เคยจำพรรษาหนองผือด้วยกัน" แต่ท่านเคารพเรามากมายมาแต่กาลไหนๆ ตั้งแต่อยู่หนองผือท่านก็เคารพมากอยู่ตลอดมา อันนี้มีเรื่องขบขันอยู่เรื่องหนึ่ง เมื่อมันมาสัมผัสก็เล่าให้ฟัง
กุฏิท่านอยู่ริมรั้วเข้าไปในป่า ทางจงกรมของเราอยู่ในป่าลึก ๆ เวลาเรามาจากกุฏิเราก็ออกหน้ากุฏิท่านศรีแล้วเข้าป่า ท่านมีโต๊ะเล็ก ๆ ขนาดนี้
"เห็นท่านศรีเขียนหนังสืออยู่" ท่านคงจะจำได้ตลอดแหละเพราะเป็นปัญหาอันหนึ่งอยู่ เราไปมาเห็นท่านเขียนหนังสืออยู่โต๊ะน้อยบ่อย ๆ แต่ก่อนท่านเป็นครูแล้วจึงมาบวช
มีโต๊ะเล็ก ๆ กุฏิท่านก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร กระต๊อบเหมือนกัน แต่มีโต๊ะเล็ก ๆ วางไว้ข้าง ๆ เราเข้าออกอยู่เรื่อยไปเดินจงกรมในป่า
"เห็นท่านเขียนหนังสืออยู่โต๊ะเล็ก ๆ เรื่อย ๆ ทีแรกเราก็ไม่ว่าอะไร ก็ผ่านไปผ่านมาอยู่แทบทุกวี่ทุกวันจะว่าไง" เพราะทางจงกรมของเราอยู่ในป่าลึก ๆ ผ่านเข้าไปนั้น
พอหนักเข้า ๆ ผ่านไปตรงนั้นเห็นท่านเขียนหนังสืออยู่โต๊ะเล็ก ๆ ใส่ปัญหาละที่นี่ ทางเราไปนี้ กุฏิก็อยู่นี้ พอไปถึงจังหวะพอดีท่านกำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่ เราก็เดินผ่านไปนั้น ท่านก็มองมาพอดี ห่างกันประมาณสักวากว่าเท่านั้นมั้ง เราเลยใส่ปัญหาว่า
"ทำอะไรเสมียน" ท่านก็จับหนังสือยัดเข้าโต๊ะ เราก็เดินผ่านไป
ตั้งแต่นั้นมาโต๊ะเล็ก ๆ หายเงียบไปเลย
"ทำอะไรเสมียน" เราว่างั้น
"คำว่าเสมียนมันเป็นปัญหาแล้วเข้าใจไหมล่ะ มาหาอรรถหาธรรมมาเขียนอะไร ความหมายก็ว่างั้น" นั่นละตั้งแต่นั้นมา โต๊ะเลยไม่ทราบหายไปไหนเงียบเลย ดูเหมือนเคยจำพรรษาห้วยทรายด้วยกันปีหนึ่งหรือไง เราลืม ๆ เสีย
หนองผือเคยอยู่ด้วยกัน พอออกจากหนองผือแล้วดูว่าไปจำพรรษาห้วยทรายด้วยกันหรือไงน้า แต่ไปอยู่ห้วยทรายนี้ไป ท่านจำพรรษาด้วยหรือเปล่ายังสงสัย เราไม่แน่ใจ ดูว่าจำพรรษาด้วยนิสัยวาสนาไปคนละทิศละทาง ท่านนิสัยวาสนาไปอีกทางหนึ่ง บริษัทบริวารมาก ไปไหนลูกศิษย์ลูกหารุมท่าน
อย่างมาวันที่ว่า ๑๙ สิงหา นี้ก็คอยดูซี ลูกศิษย์ลูกหาท่านในอำเภอต่าง ๆ เขตจังหวัดร้อยเอ็ดนี้จะมาหมดแหละ บรรดาพระเจ้าพระสงฆ์และประชาชน ท่านเคยมาเสมอ ก็เรียกว่าเป็นนิสัยวาสนาอย่างหนึ่ง คือเป็นไปตามสายนิสัยวาสนา
"ถ้านิสัยวาสนาไม่เกี่ยวข้องกันมันก็ไม่สัมผัส มันก็ไม่ติดใจ" หากเป็นอย่างนั้น
ท่านเป็นผู้มีนิสัยวาสนากว้างขวางไปในทางบริษัทบริวารมาก" เหล่านี้ใครจะไปเสกสรรปั้นยอให้มีไม่ได้ หากเป็นขึ้นภายในจิตใจของต้นเหตุ คือผู้เป็นต้นวาสนา เป็นต้นเหตุแห่งครูแห่งอาจารย์นั้นแหละ
มีลูกศิษย์ลูกหามีคนมาเคารพนับถือมาก หากเป็นเอง ๆ
"สำหรับนิสัยแต่ละท่านแต่ละองค์ไม่ได้เป็นขึ้นมาอย่างลอย ๆ เสกสรรปั้นยอขึ้นมาไม่ได้ ต้องเป็นขึ้นตามหลักธรรมชาติ" .. "
"สายบุญสายกรรม"
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=4038&CatID=2