"ทางสายพระพุทโธ" (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)
"ทางสายพระพุทโธ"
" .. การภาวนา "พระพุทโธ" ที่จะเปลี่ยนจากการ "ภาวนาพุทโธ" ที่เคยทำมานั้น ครูอาจารย์นักปฏิบัติสำคัญ ๆ ทั้งหลายท่านก็สอนตรงกัน ดังเช่นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ท่านยังใช้อุบายสอนชาวป่าชาวเขาให้รู้จักภาวนาคำ "พุทโธ" โดยให้เขาช่วยหา "พุทโธ" ของท่าน ที่ท่านบอกว่าท่านทำหาย ให้เขาช่วยหาและผลดีก็เกิดแก่ชาวป่าชาวเขาผู้นั้น "แสงสว่างเกิดขึ้นธัมมะเกิดขึ้น" เขาได้เบิกบานเป็นสุขเพราะหาพุทโธพบ
"ภาวนาพระพุทโธในการปฏิบัติ" อาจเปรียบได้กับกำลังเดินอยู่บน "ทางสายพระพุทโธ" ทางสายนี้มีจุดหมายสำคัญมากมายหลายจุด เป็นธัมมะก็ เช่น "เห็นเกิดดับ เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค" เป็นต้น
ถ้าเดินอยู่บน "ทางสายพระพุทโธ" คือ "ภาวนาพระพุทโธไว้ให้ทุกเวลา" ไม่ต้องเจาะจงเฉพาะนั่งสมาธินั่งปฏิบัติเท่านั้น "แต่ให้ถือเป็นกิจวัตร คือหน้าที่ที่ต้องทำเป็นประจำทุกเวลาที่ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่" จะยืนเดินนั่งนอนกินข้าวอาบน้ำ หรือทำงานด้วยกายมิใช่ด้วยใจ ใจว่างจากงานอยู่ ภาวนา "พระพุทโธ" ไว้ .. "
"แสงส่องใจ" วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=14380