ความยึดถือ : ท่านพ่อลี ธัมมธโร

 จำปาพร  



พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
วัดอโศการาม
อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

...

หมายเหตุผู้บันทึก ลงชื่อ อ. (อ.อภิวณฺณา) :
เทศนากันฑ์นี้ท่านอาจารย์ได้แสดงโปรดสานุศิษย์ ๒๔ คน
ที่มาจากจันทบุรี มีเนื้อความและโวหารแจ่มแจ้งน่าฟังมาก
แต่ผู้บันทึกไม่มีสติปัญญาพอที่จะจดจำไว้ได้ทั้งหมด
จึงเขียนมาเพียงย่อๆพอเป็นเค้าตามสำนวนของท่าน


...

อะไรเป็นเหตุแห่งความเวียนเกิด? "ความยึดถือ"
เป็นเราเป็นเขา เป็นตัวเป็นตน ยึดในดีไม่ดี อดีต อนาคต ปัจจุบัน
นี้เป็นเหตุให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร

เมื่อเรารู้ว่า เรื่องของโลกเป็นของไม่ดีจริง , จริงไม่ดี ดังนี้
เราก็ต้องไม่ไปยึดถือมัน ต้องปัดทิ้งให้หมด

เขาจะว่าเราดีหรือไม่ มันก็ไม่ใช่ของจริง
เพราะ "ดี" มันก็อยู่ที่ปากคนเล่า "ไม่ดี" ก็จริงอยู่ที่ปากคนพูด
ฉะนั้น เราจึงไม่ถือเอาทั้งหมดที่คนเขาว่า
ให้ถือเอา "ดีหรือไม่ดีที่ตัวเราเอง"

การทำดี-ไม่ดีนั้น ใครก็ไม่รู้ดีไปกว่าตัวของเราเอง
แม้แต่เทวดาก็ไม่รู้ดีไปกว่าเราได้เพราะมันเป็น "การรู้เฉพาะตัว"
ถ้าเรายังจะมัวเอาดี-ไม่ดีภายนอก จากคนอื่นอยู่แล้ว
ก็จะต้องประสบกับความทุกข์เดือดร้อนอยู่ร่ำไป
เพราะเป็นเรื่องของ "โลก" เป็นเรื่องของ "ความมีเขามีเรา มีตัวมีตน"


"เขา" นั้นมันเป็นเขาของสัตว์ป่า ของวัวของควาย ฯลฯ
"เรา" มันก็เป็นงาของสัตว์ งานั้นถึงจะเป็นของสูง
อยู่บนหัวของช้าง แต่มันก็ต้องต่ำลงดิน
ถ้าเราเอา "เขา" หรือ "งา" มาสวมใส่หัวของเราไว้
เราก็จะกลายเป็น "สัตว์ป่า" เช่นเดียวกัน

และถ้าเราเป็นวัวหรือควาย เราก็จะไม่พ้น
ถูกเขาจับไปฆ่าหรือถูกควายมันขวิด
ถ้าเราเอางามาใส่ ก็เปรียบเหมือนเราขึ้นไปนั่งบนคอช้าง
อาจจะถูกช้างมันแทงเข้าสักวันหนึ่ง
"ช้าง คือ ตัวอวิชชา" ถ้ามีช้าง มันก็จะต้องมีสัตว์อื่นด้วย
ถ้าเรามีช้าง เราก็ยังเป็น "ผู้มืด"
มองไม่เห็นของจริง ไม่เห็นแสงสว่าง

"ความจริง" อันนี้บางทีตัวเราเองเป็นผู้ปิดบังตัวเราเอง
คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือ เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้ ล้วนเป็น "สังขารปรุงแต่ง"
ไม่ใช่ของจริงของแท้ มีแต่ความแปรปรวนไม่แน่นอน
ถ้าเราเข้าไปติดไปยึดว่าเป็นจริงจังแล้ว
ก็ย่อมเป็นเหตุนำความทุกข์เดือดร้อนมาให้แก่ตัวเราเอง

"ความดี-ความชั่ว" ก็เช่นเดียวกัน
เขาจะว่าเราดี-ไม่ดีก็อย่าไปยินดี-ยินร้าย
ให้ถือเอาความจริงที่ตัวของเราทำเอง
ผู้ที่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีจิตใจสูง
เจริญขึ้นสู่ธรรมอย่างเต็มที่
ความดีของเขาก็ย่อมขยายตัวออกเอง
เหมือนกับดอกบัวที่บานเต็มที่อยู่ในสระ
ดอกก็ใหญ่ กลีบก็ขยายบาน ส่งกลิ่นหอม
คือความเย็นกระจายไปทั่ว

"ความเย็น" นี้คือ "ความสุข"
ตา-เราเห็นรูปที่ดีก็เป็นสุข รูปไม่ดีก็เป็นสุข
หู-จะได้ยินเสียงดีก็เป็นสุข เสียงไม่ดีก็เป็นสุข
ลิ้น-จะรับรสดีก็อร่อย รสไม่ดีก็กลืนอร่อย ฯลฯ
อารมณ์ต่างๆที่ผ่านมากระทบทั้งดีทั้งชั่ว

ต้อง "ทำใจให้เป็นกลาง" วางเฉยเป็น "ฉฬงฺคุเปกขา"
จัดเข้าอยู่ใน"มรรค"เป็นองค์โพชฌงค์

พระพุทธเจ้าท่านไม่ติดดีติดชั่ว
ไม่ข้องอยู่ในอารมณ์ภายนอกทั้งดี ชั่ว อดีต อนาคต ปัจจุบัน
ก็เป็นจิตที่หลุดพ้นจากอาสวะ เป็นจิตที่ตกอยู่ในกระแสของธรรม
มีความสุขเย็นเป็น "วิหารธรรม"เป็น "วิชาวิมุติ"
ผู้ใดปฏิบัติได้ขณะใดก็ย่อมได้รับผลเย็นในขณะนั้น

ไม่จำกัดกาลเวลา เป็น "อกาลิโก"


เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราพากันศึกษา
ให้รู้แจ้งชัดในเรื่องของ "โลก" และของ "ธรรม"
ให้เข้าใจส่วนใดเป็น "โลก" ก็ปัดทิ้งเสีย
ส่วนใดเป็น "ธรรม" ก็น้อมนำเข้ามาประพฤติปฏิบัติ

ผู้นั้นจักได้รับผล คือ "ความสงบ" เป็นความสุขเย็น
จะอยู่ที่ใดก็เป็นสุข จะไปไหนก็เป็นสุข
ปราศจากความเดือดร้อนทั้งปวง


ได้แสดงมาโดยย่อพอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาความรู้
ก็พอสมควรแก่กาลเวลา ยุติเพียงเท่านี้


...


คัดลอกเนื้อหาจาก
หนังสือแนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน, พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร.
โดยชมรมกัลยาณธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๕๒. หน้า ๒๓๗ - ๒๔๐.


5,670







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย