มีสติสัมปชัญญะสำรวมใจก่อนพูด : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
...
เนื่องในโอกาสวันนี้เป็นวันครบรอบ ๑๐๔ ปีแห่งชาตกาล
ขององค์ "หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ" จึงใคร่ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน
ร่วมน้อมรำลึกถึงองค์หลวงปู่ค่ะ _/\_ _/\_ _/\_
...
เออ ต่อนี้ไปก็พากันตั้งอกตั้งใจ
โอกาสที่จะได้อยู่ด้วยนั้นมีน้อยเหลือเกิน
เพราะฉะนั้นจึงจะต้องหาโอกาสแนะนำตักเตือน
ให้พากันมี "สติสัมปชัญญะ" ระลึกให้ได้เสมอ
การที่เราจะรู้ผิดรู้ถูกด้วยตนเองได้
ก็เพราะอาศัยสติสัมปชัญญะนี่แหละ
เป็นผู้ระลึกเข้าไปในกายในจิต
หัดสติระลึกนี่ให้มันว่องไว ให้มันทันการณ์ทันเวลา
"สติ" พระพุทธเจ้าทรงเปรียบไว้เหมือนกับทำนบ
..ทำนบกั้นน้ำ สติที่ไม่ได้ฝึกฝนให้ดี ให้เข้มแข็ง
มันก็เหมือนอย่างทำนบที่ทำไม่แข็งแรง
เมื่อน้ำเอ่อเข้ามาก็พังลงไป
นั่นเปรียบได้กับบุคคลผู้ที่ไม่ฝึกสติให้เข้มแข็ง
ควบคุมจิตใจตัวเองไม่ได้
พอเรื่องดีเรื่องชั่วอะไรกระทบกระทั่งมา
จิตใจก็หวั่นไหวไปตามเลย ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้
เหมือนกับทำนบกั้นน้ำที่ไม่ทำให้แข็งแรงนั้นแหละ
บัดนี้ เมื่อผู้ใดเป็นผู้ฝึกสติให้เข้มแข็ง สติสัมปชัญญะเป็นคู่กัน
"สติความระลึกได้" คือ ระลึกถึงเรื่องราวต่างๆได้
"สัมปชัญญะเป็นผู้ใคร่ครวญ" เป็นผู้พิจารณาว่าเรื่องนี้คืออะไร
ความจริงเป็นยังไง อย่างนี้นะเพราะฉะนั้น มีแต่สติอย่างเดียว
ถ้าขาดจากสัมปชัญญะแล้วก็ไม่ได้ผลอีกเหมือนกันน่ะ
ดังนั้นก็ขอให้สังเกตดู คุณธรรมสองอย่างนี่
มันมีอยู่ในตัวของเรามากน้อยเพียงใด
ก็กำหนดรู้เอาด้วยตนเอง
แต่ทุกคนก็มีสติสัมปชัญญะอยู่เหมือนกันแหละผู้ใดก็ดี
ไม่มีสติสัมปชัญญะก็เป็นบ้าเท่านั้นเอง
แต่ว่าสติมันมีหลายขั้นตอน สติความระลึกได้
ระลึกถึงการงาน ระลึกถึงสิ่งของ อะไรต่ออะไรอยู่ที่ไหน
จำได้ ระลึกได้ ระลึกถึงการถึงงานที่จะต้องทำ
แล้วก็ทำงานนั้นได้เพราะระลึกได้
ถ้าสติตัวนี้ไม่เกิด ระลึกถึงหน้าที่การงานไม่ได้
มันก็ทำงานอย่างนั้นไม่ได้ อันนี้เรียกว่า "สติธรรมดา"
เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้
มีหน้าที่จะต้องรักษาตัวเองให้ดีไป
บัดนี้ "สติขั้นที่สอง" ได้แก่สติที่เราจะสำรวมกาย สำรวมวาจา
ไม่ให้ล่วงละเมิดในศีลสิกขาบทที่ตนสมาทานมาแล้ว
ต้องมีสติระลึกอยู่เสมอ ก่อนจะทำอะไรพูดอะไร
มันผิดศีลหรือไม่ หรือไม่ผิด อันศีลกับธรรมเป็นคู่กัน
ถ้าไม่ผิดศีลบางทีก็ผิดธรรม นี่นะนั่นแหละ
เช่นอย่างว่า ใครทำอะไรไม่ถูกใจตัวเองแล้วก็ไม่เกรงใจคนอื่น
ไปว่าเพื่อนเอาซะเจ็บๆแสบๆ อะไรอย่างนี้นะ
มันไม่ผิดศีลดอกแต่มันผิดธรรมบาดนิ เออ มันเป็นอย่างนั้น
ผิดธรรมข้อที่อิจฉาริษยา นั่นแหละอิจฉา
ใช้คำพูดกระทบกระทั่งให้เพื่อนเจ็บอกเจ็บใจ เป็นทุกข์เดือดร้อน
โดยสำคัญว่าตนนั้นมีอำนาจเหนือผู้อื่น อะไรไปทำนองนี้นะ
คนไม่รู้จักประมาณตนน่ะ ตนอยู่ในฐานะอย่างนี้แล้ว
ไม่ควรที่จะไปว่าคนอื่น ก็รู้อย่างนี้แล้วก็ไม่ว่าคนอื่นเสียๆหายๆ
ถ้าหากว่า มีช่องว่างที่จะตักเตือนโดยทางดีได้ก็เตือนกันไปโดยทางดี
เตือนโดยทางดีแล้วเพื่อนไม่เอาก็แล้วไป
ไม่ต้องมีการจู้จี้เสียบแทงกันอะไรอย่างนี้ อย่าไปทำเลย
อันนั้นมันเป็น "กิเลส" การที่จิตใจมันโกรธ
มันฉุนเฉียวขึ้นมาอยู่ภายในแล้วแสดงออกทางวาจา
มันก็ไม่สุภาพเลย และไม่เป็นที่พอใจของผู้ฟัง ต้องให้เข้าใจ
ถ้าสังเกตเห็นว่า จิตใจของตนมันวู่วาม มันไม่ปกติ
มันฉุนเฉียวอยากว่าคนอื่นนี้นะ รู้อย่างนั้นแล้วต้องระงับ
ไม่ต้องว่าใครเลย ไม่ต้องพูดกับใคร ต้องระงับจิต
ต้องเพ่งจิตอันนั้น ละอารมณ์อันนั้นเสียก่อน
เมื่ออารมณ์นั้นดับไปแล้ว ใจเย็นแล้วอย่างนี้
ก็จึงพิจารณาว่าควรจะพูดอะไรกับใคร
เราก็เมื่อใจมันเย็นแล้วการพูดมันก็ดี มันก็ไม่เป็นทางไม่ดี
เรียกว่า มันสำคัญอยู่ที่จิต ให้เข้าใจกันอย่างนั้น
อันนี้คำว่า มันผิดธรรมนะ ขอให้เข้าใจ
อันผิดศีลหมายความว่า พูดโกหก อืม อย่างนี้ล่ะพูดโกหก
พูดคำไม่จริง ถ้าเจตนาพูดโกหกจริงๆศีลข้อนั้นก็ขาด
มันเป็นอย่างนั้น บัดนี้ถ้าไปพูดส่อเสียด พูดคำหยาบกับผู้อื่น
ผิดธรรมบาดนินะ ท่านก็เรียกว่าเป็น "อกุศลกรรมบถ" เหมือนกันนะ
อกุศลมันเกิดจากความประพฤติทางกายทางวาจา
มันเป็นอย่างนั้น แต่มันก็มาจากใจนั่นแหละ
เพราะใจนั้นมันไม่สงบ ไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม
มันตั้งมั่นอยู่ในความโกรธเช่นนี้นะมันจึงแสดงออกอย่างนั้นไป
อันนี้มันก็ผิดธรรมให้เข้าใจกัน
ดังนั้นเราจะพูดอะไรกับใครที่ไหนต้องสำรวมใจของตนให้ดี
ต้องมีเมตตาอยู่ภายในจิตใจเสมอ
อย่าไปยึดเอาความไม่พอใจในบุคคลมาไว้เป็นอารมณ์
แล้วหาเรื่องพูดกระทบกระทั่งผู้ที่ตนไม่พอใจนั้นอย่างนี้นะ
มันผิดธรรมน่ะ ไม่ถูก ขอให้เข้าใจกัน
...
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
"สติใคร่ครวญเสียก่อนจึงค่อยพูด ปี พ.ศ. ๒๕๓๖"