การถึงคุณพระรัตนตรัยแท้ : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

 จำปาพร  

 พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

ถ้าผู้ใดหมั่นระลึกเข้ามาหากายหาจิตนี้อยู่บ่อยๆ
มันก็ไม่ลืมตัว ก็รู้ตัวอยู่ ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่เดี๋ยวนี้นะ

แล้วตนมีความสุขหรือมีความทุกข์ แต่ถ้าผู้ไม่ใช้ปัญญา
ก็จะเห็นว่าตนมีความสุขนั้นแหละ
เพราะว่าในขณะนี้
โรคภัยก็ไม่เบียดเบียน กินก็ได้ นอนก็หลับ ไปไหนมาไหน ฟ้อนรำขับร้อง
ดีดสีตีเป่าอะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เห็นทุกข์บาดนิ
ถือว่าตนนั้นมีความสุขอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายหาความสุขอย่างอื่น
คนดังกล่าวมานี้ได้ชื่อว่า เป็นผู้หลงติดอยู่ใน "ความสุขชั่วคราวสุขไม่ยั่งยืน"

บัดนี้ในพระพุทธศาสนานี่ พระพุทธเจ้าสอนให้คนเราแสวงหา "ความสุขอันยั่งยืน"
มันจึงไม่แปรผันชีวิตนี้น่ะ อันชีวิตที่มันแปรผันอยู่นี่ก็เพราะมันไปติดแต่ความสุขอันชั่วคราวนั้น
แล้วเมื่อมันหมดอายุแห่งความสุขชั่วคราว มันก็ดับไปบัดนี้ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมาแทน

ก็ได้เสวยทุกข์ทนทรมานไป ก็เป็นอยู่อย่างนี้คนเราแต่มันลืมตัว มันนึกถึงตัวเองไม่ได้
เหตุนั้นจึงได้เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่ไม่รู้หาย จึงเป็นทาสแห่งตัณหา
มีความหิวอยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่รู้จักอิ่ม ในโลกสันนิวาสอันนี้มันเป็นอย่างนั้น

ดังนั้นน่ะผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ผู้ที่ประกาศตนเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า
หรือเป็นบริษัทของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ถ้าได้ประกาศปฏิญาณตนอย่างนี้แล้ว อย่าไปถือว่ามันพอแล้ว

ได้ที่พึ่งพอแล้วเท่านั้นก็เฉยเมยเสีย ปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปเสียอย่างนี้
ไม่สมควร เพียงแค่คำกล่าวปฏิญาณตนถึงเท่านั้นน่ะ
มันไม่เป็นที่พึ่งอันมั่นคงได้ อันนั้นเป็นแต่เพียงบทบาทเบื้องต้นเฉยๆ

มันเป็นปากทางเข้าถึงคุณพระรัตนตรัยเท่านั้น
ยังไม่ถึง "ตัวคุณพระรัตนตรัยแท้" ต้องให้เข้าใจอย่างนั้น

เมื่อเราได้ความเคารพนับถือ ความเชื่อ ความเลื่อมใสอย่างว่านั้นแล้ว
มันก็เป็นเหตุให้เราลงมือปฏิบัติ การลงมือปฏิบัตินี่แหละ
ถ้าปฏิบัติถูกทางมันก็จะต้องเข้าถึงคุณแก้วสามประการนี้ได้อย่างสนิทใจ
ถ้าปฏิบัติผิดทางมันก็เข้าถึงให้อย่างสนิทสนมไม่ได้ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

เหมือนอย่างคนบางพวกบางเหล่านั้น พุทธศาสนาก็นับถือ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็กราบก็ไหว้
บาดนิเมื่อมีผู้ชวนไปไหว้ท้าวมหาพรหมเบาะ ไปไหว้พระอิศวร
เจ้าแม่กวนอิมเบาะ อะไรที่เขาลือกันว่าวิเศษวิโส อำนวยความสุขความเจริญ
ให้แก่ผู้กราบผู้ไหว้ผู้บวงสรวงได้มีลาภมียศ มีสรรเสริญ มีความร่ำรวย
ตนอยากร่ำรวยก็เอาแล้วทีนี้ไป ไปไหว้กับเขา กราบกับเขา
เช่นนี้เรียกว่า "ผู้มีจิตใจยังง่อนแง่นคลอนแคลนต่อที่พึ่งอันประเสริฐของตนอยู่"
ที่พึ่งอันใดที่จะประเสริฐยิ่งไปกว่าคุณพระรัตนตรัยนี้ไม่มี

มีแต่คุณพระรัตนตรัยเท่านี้แหละเป็นที่พึ่งสูงสุดในโลกนี้

ทีนี้ ถ้าผู้ใดนับถือคุณพระรัตนตรัยแล้วก็ยังไปนับถือสิ่งอื่นอีก
ไปกราบไปไหว้สิ่งอื่น ไปบวงสรวงบูชาสิ่งอื่นอยู่อย่างนี้
การนับถือพระรัตนตรัยของผู้นั้นก็เศร้าหมองขุ่นมัว
ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่สามารถที่จะช่วยให้พ้นจากทุกข์ภัยได้

เพราะว่าคนผู้นั้นเป็น "คนสองจิตสามใจ" ไม่ยืนตัวอยู่ได้
ยังมองไม่เห็นว่า คุณพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ
มองไม่เห็น เห็นก็พอลางๆนี่แหละ

ครั้นถ้าว่าผู้ใดมองเห็นคุณทั้งสามประการนี่
เป็นที่พึ่งอันประเสริฐด้วยปัญญาจริงๆ ผู้นั้นก็ไม่ต้องไปนับถือสิ่งอื่นเลย
ไม่ไปไหว้ไปอ้อนวอนบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่ชาวโลกเขาสมมติกันขึ้นนี้นะ

ไม่ไปแล้วผู้นั้น มันเป็นอย่างนั้น ผู้ใดเว้นจากการกราบไหว้สิ่งอื่นอย่างว่านี้แล้ว
แสดงว่า "มีใจมั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัย" และรู้สึกว่า คุณพระรัตนตรัยนี้
เป็นที่พึ่งกำจัดทุกข์ภัยได้จริง ก็มันเห็นอย่างนี้
มันถึงไม่ไปไหว้ไปนอบน้อมต่อสิ่งอื่นใด

ชาวพุทธเราต้องพยายามภาวนาพิจารณาให้เห็นคุณแก้วสามประการนี้
เป็นที่พึ่งอันประเสริฐกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมดในโลกนี้
ต้องใจให้ต้องเป็นหนึ่ง อย่าให้เป็นสอง

เราเห็นแจ้งว่าเป็น "คุณอันประเสริฐ" อย่างนี้แล้ว
เราก็สามารถสละชีวิตบูชาลงได้ นั่นจึงเป็นผู้เชื่ออย่างมั่นคงจริงๆ
แต่เรายอมสละชีวิตเพื่อบูชาคุณพระรัตนตรัยนี่
ก็เพราะเรามีปัญญามองเห็นพระคุณอันนี้เป็นของประเสริฐจริง
มีเหตุมีผลปรากฏอยู่ในจิตใจของเราแล้วอย่างดียิ่ง
เราจึงกล้ายอมสละชีวิตบูชาคุณพระรัตนตรัยได้

ไม่ใช่ว่ามองไม่เห็นด้วยปัญญาแล้วแต่เชื่อตามๆกันไปเฉยๆ
แล้วก็ไปสละชีวิตบูชาได้อย่างนี้ไม่อัศจรรย์แบบนั้นน่ะ
ที่น่าอัศจรรย์ต้องเห็นคุณแก้วสามประการนี้แจ่มแจ้ง
ด้วยปัญญาตาใจของตนจริงๆก่อน ข้อนี้นั้นไม่มีใครที่จะยืนยันให้ใครได้
ต่างคนต่างต้องพิจารณาให้เห็นด้วยตนเอง ให้รู้ด้วยตนเอง
ให้รู้แจ้งด้วยตนเองจริงๆ ดังนั้นเมื่อตนเองเห็นด้วยตนเองจริงๆแล้ว
ก็เคารพกราบไหว้สักการบูชาอย่างไม่มีจืดจาง ไม่มีเบื่อหน่าย


...

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
"เหตุปัจจุบันของชีวิต" 

5,637







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย