ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ๑
พระพุทธศาสนา คือ คำ สั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งประกอบด้วยพระธรรมและพระวินัย เป็นหลักให้พุทธบริษัทได้ศึกษาเล่าเรียน และนำไป
ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และเพื่อนำมา
ประกาศเผยแผ่ให้แก่คนทุกหมู่เหล่าเข้าถึงหลักคำสอนของพระองค์ ภารกิจที่สำคัญ
อีกอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชน ก็คือการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธเจ้า และสามารถ
โต้ตอบกับปรัปวาทภายนอกพระพุทธศาสนา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสกับมารผู้มากราบทูล
ให้พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานว่า พระองค์จะยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตราบเท่าที่
ภิกษุทั้งหลายยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตน
แล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรม
มีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้ ๑ พระพุทธดำรัสนี้
เป็นเครื่องยืนยันว่า บุคคลที่เป็นศาสนทายาทจะต้องมีความพร้อมทั้งวิชชาและจรณะ
มีศักยภาพในการเผยแผ่ สามารถปราบปรัปวาทของลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้ทรงแสดง
พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกโปรดปัญจวัคคีย์นับว่าเป็นการ
เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปพร้อมกันอีกด้วย และในคราวที่พระองค์ทรงส่งพระสาวกไป
ประกาศพระศาสนาในครั้งแรกด้วยพระดำรัสว่า ให้ภิกษุทั้งหลายจาริกไป เพื่อประโยชน์สุข
แก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพ
และมนุษย์ แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงครบถ้วน
แม้พระองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม ๒ พระพุทธพจน์นี้ เป็นการ
ประกาศหลักการที่ชัดเจนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พุทธบริษัทได้ถือเป็นแนวปฏิบัติกัน
สืบต่อมา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงของพระธรรมวินัย
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยนั้น กระทำกันหลายรูปแบบ เช่น การปฏิบัติ
ตนให้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส การสนทนา การแนะนำ การตอบปัญหาข้อข้องใจ และการ
แสดงธรรม เป็นต้น โดยที่พระพุทธเจ้าประทานหลักในการเผยแผ่ให้พระสาวกยึดถือเป็น
หลักปฏิบัติในการแสดงธรรม คือ ให้มีเนื้อหาต่อเนื่องกันไปตามลำดับ ชี้แจงแสดงเหตุผล
ให้เข้าใจชัดเจนในแต่ละประเด็น แสดงธรรมเพราะอาศัยความเอ็นดูต่อสรรพสัตว์ มุ่งจะให้
ประโยชน์แก่ผู้ฟัง แสดงธรรมเพราะไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง และไม่แสดงธรรมกระทบ
ตนและผู้อื่น ๓
พระนาคเสนเป็นพระสาวกยุคหลังพุทธกาล ท่านเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่
พระพุทธศาสนาในยุคหลังพุทธปรินิพพาน เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น เฉลียวฉลาด
แตกฉานในพระธรรมวินัย มีปฏิภาณโวหารสามารถชี้แจงให้ผู้ที่มีความสงสัยเรื่องราว
ในพระพุทธศาสนาเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ชัดเจน เนื่องจากท่านมีวิธีการอธิบายหลักธรรม
ในทางพระพุทธศาสนาที่เหมาะสมแก่ยุคสมัย โดยอาศัยหลักที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเป็น
แบบอย่าง มีเทคนิคและวิธีการสอนที่หลากหลาย คือ สอนจากง่ายไปหายาก อธิบายสิ่งที่
เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม เพราะธรรมะเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจ
โดยเฉพาะธรรมะชั้นสูง จำเป็นต้องใช้กลวิธีอันแยบยลในการเผยแผ่ อัจฉริยภาพของ
พระนาคเสนที่ชาวพุทธทราบกันดี คือการโต้ตอบปัญหากับพระเจ้ามิลินท์ จนสามารถ
ชี้แจงให้พระเจ้ามิลินท์หมดสิ้นความสงสัย หันมานับถือพระพุทธศาสนา
การใช้ปฏิภาณโวหารโต้ตอบปัญหา ถือว่าเป็นเทคนิคสำคัญในการเผยแผ่
พระพุทธศาสนา เพราะการสนทนาโต้ตอบกันจะต้องมีไหวพริบรู้เท่าทันคู่สนทนา เช่น
ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงสนทนากับสัจจกนิครนถ์ เรื่องขันธ์๕ เป็นอัตตา หรือเป็นอนัตตา
ด้วยหลักตรรกวิทยา คือ การหาเหตุผลที่มองเห็นได้ พระองค์ทรงซักถามจนสัจจกนิครนถ์
ตอบไม่ได้และยังทรงสำทับว่าคำของสัจจกนิครนถ์หาสาระไม่ได้ ๔ การใช้ปฏิภาณโวหาร
ต้องมีความละเอียดรอบคอบ มีวิจารณญาณที่ดี เช่น การสนทนากันระหว่างพระนาคเสนกับ
พระเจ้ามิลินท์ เกี่ยวกับเรื่องรูปนามว่า อะไรชื่อนาคเสน อาการ ๓๒ หรือว่าขันธ์ ๕
ซึ่งพระนาคเสนก็ตอบปฏิเสธทั้งหมด และอธิบายว่าอาศัยการประกอบกันเข้าทั้งนามและรูป
จึงมีการบัญญัติชื่อเรียกบุคคล หรือวัตถุสิ่งของ เปรียบเหมือนพระองค์เสด็จมาด้วยรถ จะกล่าว
ว่า เรือน งอน เพลา หรือล้อ ชื่อว่ารถ ก็ไม่ได้เหมือนกัน แต่เมื่อรวมอุปกรณ์ทุกอย่าง
เข้าด้วยกัน จึงเรียกว่ารถ พระนาคเสนจึงสรุปว่า ในลักษณะเดียวกัน เมื่อรวมนามและรูปเข้า
ด้วยกันแล้ว จึงสมมติเรียกว่า นาคเสนบ้าง อย่างอื่นบ้าง แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่มี
ตัวบุคคลที่จะค้นหาได้ในชื่อนั้น ๕
พระนาคเสนใช้ปฏิภาณโวหารโต้ตอบกับพระเจ้ามิลินท์แสดงให้เห็นถึงความเป็น
พหูสูต ความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา การใช้วาทะโต้ตอบกับฝ่ายลัทธิภายนอก
พระพุทธศาสนา ปฏิปทาของท่านจึงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเลือกทำ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้เพื่อต้องการทราบว่า พระนาคเสนมีบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
อย่างไร ปฏิภาณโวหารการสนทนาโต้ตอบของท่านควรถือเป็นแบบอย่างของนักเผยแผ่ทั่วไป
แม้ท่านจะเป็นพระสาวกยุคภายหลังพุทธปรินิพพาน แต่ก็มีอิทธิพลในการเผยแผ่
พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และวิธีการของพระนาคเสนก็สามารถนำมาประยุกต์เป็น
แนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดียิ่ง
ที่มา : พระมหาสายเพชร วชิรเวที(หงษ์แพงจิตร)