"นายพรานคืนศีล" ตอนที่ ๑๐. "นายพราน ถึงวัดเชตวันฯ/ฟังธรรม/บรรลุธรรม"
"นายพรานคืนศีล" ตอนที่ ๑๐. "นายพราน ถึงวัดเชตวันฯ/ฟังธรรม/บรรลุธรรม"
โดย หลวงปู่จันทา ถาวโร
๑๐. "นายพราน ถึงวัดเชตวันฯ/ฟังธรรม/บรรลุธรรม"
.. จนล่วงไปถึงวัดเชตวันมหาวิหาร "ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่บริษัท ๔ อยู่ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ โพชฌงค์ ๗ นั่นแหละ" นายพรานเข้าไปนั่งอยุ่ที่สุดแห่งบริษัท ๔ นั้น ตั้งใจฟังธรรมะ "ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นแหลมลึกเข้าถึงใจนายพราน ไปฉาบทาจิตใจนายพรานชำระกิเลสบาปกรรม" นายพรานน้อมเอาธรรมะที่พระพุทธเจ้าเทศน์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ
- "ศีล" แปลว่า รักษากาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยดี ไม่มีโทษที่จะพึงนินทา
- "สมาธิ" แปลว่า ตั้งใจมั่น มั่นอยู่ในการทำคุณงามความดีทั้งหลายนั้น มั่นเสมอ
- "ปัญญา" แปลว่า รอบรู้ในกองสังขาร กองรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ทั้ง ๕ นี้ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
- "อนิจจา" ไม่เที่ยง
- "ทุกขตา" เป็นทุกข์
- "อนัตตา" ไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรา นั่นแหละ
"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิงใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแท้" นายพรานน้อมเอาธรรมมาฟอกใจ ใจรับเอาธรรม ก็เลยชำระรื้อถอนสังโยชน์ ๓ คือ
- "สักกายทิฎฐิ" ตกไปจากใจ
- "วิจิกิจฉา" ขาดไปจากใจ
- "สีลัพพตปรามาส" ขาดจากใจ
"ใจนั้นได้บรรลุนิยโตบุคคล บุคคลอันเลิศ ได้บรรลุเอกพีชีภิกขุโดยเร็วพลัน"
เมื่อจบธรรมเทศนา "นายพรานก็รู้แจ้งแทงตลอดว่า เราได้บรรลุธรรมแล้ว" เพราะได้ประสบพบนักปราชญ์ผู้ดี แนะนำพร่ำสอน บอกให้เรามาคืนพระไตรสรณคมน์และศีล ๕ นั่นแหละ "จึงมาได้ประสบพบปะนักปราชญ์อันเยี่ยมเลิศประเสริฐ คือพระพุทธเจ้าแล้วฟังธรรมะ กิเลส ๓ ตัวก็ตกไป กลายเป็นนิยโตบุคคล บุคคลผู้เที่ยงแท้ต่อสุคติล้วน ๆ ไม่มีอบายเป็นที่ไป มีพระนิพพานเป็นที่ไปเบื้องหน้า" นั่นแหละ
"ข้าพเจ้าหมดบาปกรรมความชั่ว ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาตั้งแต่อายุ ๗ ปี จนถึง ๔๐ ปี ก็สาปสูญหมดวันนั้น เพราะจิตใจได้บรรลุนิยโตธรรมแล้ว ก็อโหสิกรรม กรรมชั่วเลิกแล้ว กรรมชั่วไม่ให้ผลอีกต่อไปข้างหน้า" นั่นแหละ "เปรียบเหมือนกับผลไม้สิ้นยางแล้ว จะเอาไปเพาะปลูก ก็ไม่งอกเงยขึ้นอีก อันนี้ฉันใด จิตที่ได้บรรลุธรรม ก็ฉันนั้น"
นี่แหละ "ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นของดีเลิศประเสริฐอย่างนั้น" ถึงแม้ว่า "นายพรานสันดานหยาบ หยาบช้าลามก ทำปาณาติบาต มาสิ้นกาลช้านาน มาได้ฟังธรรมแล้วนำไปปฎิบัติชั่วระยะ" นั่นแหละ "ก็สามารถรื้อถอนกิเลส ๓ ตัว ออกจากใจได้ ใจก็ได้บรรลุนิยโตธรรมบุคคล" ผู้เที่ยงแท้ต่อสุคติล้วน ๆ
เป็นผู้ตกกระแสปากทางที่จะไปพระนิพพาน หมดความหมายในโลกสงสาร นั่นแหละ "กระแสของวัฎฎสงสาร คือกิเลสตัวหยาบช้ากับบาปก็หมดไปแล้ว ไม่มีอะไรต่อต้านได้" นั่นแหละ ลงเอยกันหมดเสียสิ้น
นายพรานก็ปฏิญาณตนเป็นอุบาสก "นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ต่อแต่นั้นไปตลอดชีวิต ปฏิญาณตนถึงแก้ว ๓ ประการ พระพุทธเจ้าก็ทรงรับเอา" เสร็จทุกอย่างเข้าในกรอบแห่งธรรมะ "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีลธรรม ศาสนาของพระพุทธเจ้า เป็นของดีเลิศประเสริฐแท้ เป็นนิยโตบุคคล บุคคลผู้ดีเลิศประเสริฐแท้" นั่นแหละ เห็นแจ้งชัด
- "จิตตัง ทันตัง สุขะมาวะหาติ" จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้ ชั่วระยะนั้นแหละ ไม่นานได้บรรลุธรรมอันเลิศประเสริฐแท้
- "ปะฏิปันนา ปะโมกขันติ ฌายิโน มาระพันธะนา" มาร คือ กิเลสมาร ขันธ์มาร อภิสังขารมาร(บาปชั่ว) เทวบุตรมาร(ความสุข) ก็หมดไปแล้ว มีแต่ความสุขที่เกิดขึ้นที่จิต นั่นแหละ
"เราถึงแล้ว แก้ว ๓ ประการ ถึงแก่นของศาสนาแน่นอน อบายไม่ได้ไป ไฟนรกไม่ได้ไหม้"แน่นอนเที่ยงแท้ ดีเลิศประเสริฐแท้ ..
(มีต่อ ตอนที่ ๑๑. "บุพกรรมของปุริโสเปรต ๑,๐๐๐ ตน/ช้างสารใหญ่)