บาปอย่างไร ?
เราได้พูดถึงเรื่องศีลข้อที่ ๑ เกี่ยวกับเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงห้ามฆ่าสัตว์ ?ทีนี้ เราก็จะมาคุยกันต่อ ถึงปัญหาที่หลายคนสงสัย นั่นก็คือ การฆ่าสัตว์ ที่ว่าได้บาปนั้น ได้บาปอย่างไร ?
ผู้ที่จะเฉลยปัญหาข้อนี้ได้กระจ่าง และชัดเจนที่สุด ก็เห็นจะได้แก่ พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อดีตอนุศาสนาจารย์กองทัพบก ผู้มีความรู้ในทางธรรม เป็นที่แตกฉาน และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ท่านได้เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ ในหนังสือ คำบรรยายพุทธศาสตร์ น่าฟัง มากครับก่อนอื่น ท่านอธิบายความหมายของคำว่า “บาป” เพื่อเป็นการ ปูพื้นฐานความเข้าใจ ว่าบาปนั้นเป็นอย่างไร ?
บาป ก็คือความเศร้าหมองแห่งจิต ย้อนต้นนิดหน่อย ตัวเราหมดทั้งเนื้อ ทั้งตัวนี้ สำคัญอยู่ที่จิต ถ้าชักจิตออกทิ้งเสียแล้ว ตัวเราก็หมดความหมาย ทีนี้จิตคนเรานี้ มีความเป็นไปสืบต่อกันมานาน นานกว่าร่างกาย ร่างกายนี้ จะทรงตัวอยู่ได้ อย่างมาก ราว ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี เท่านั้นก็ แตกดับ แต่ จิตจะต้องเวียนว่ายอยู่ในภพ ( ที่เกิด ) ต่างๆ นับด้วยหมื่นปี แสนปี หรือกว่านั้น เสียด้วยซ้ำ ในระหว่างที่จิตเวียนว่ายอยู่นี้ บางคราวจิตก็มีสภาพดีขึ้น บางคราวก็ เสื่อมลงต่ำลง จิตที่มีคุณภาพดีขึ้น ก็ย่อมจะเข้าสู่สภาพ ของภพที่ดีขึ้น ตามชั้นของ จิตนั้น แต่ถ้าจิตเสื่อมคุณภาพลง ก็จะเข้าสู่ภพที่เลวลงไป ” ตรงนี้ พ.อ.ปิ่น ท่านได้ยกตัวอย่างไว้ ซึ่งจะทำให้เห็นเหตุผลได้ชัดขึ้น
“ เทวดา ถ้าโลภมากๆ จนตกจากชั้นเทวดา ก็ลงมาเกิดเป็นคนโลภ คนที่โลภมาก จนอยู่เป็นคนไม่ไหว ก็ลดลงไปเป็นสัตว์ประเภทโลภสัตว์ที่โลภมาก จนเป็นสัตว์อยู่ไม่ไหว ก็จะลดลงไปเป็นเปรตโลภ คือ เปรตหิว ( ขุปิปาสิกเปรต ) กินเท่าไรไม่อิ่ม ถ้ามันหิวร้าย จนเป็น เปรตอยู่ไม่ได้ ก็ตกลงนรกอเวจีไปเลย เรื่องโกรธ ( โทสะ ) เรื่องโง่ ( โมหะ ) ก็ทำนองเดียวกันและถ้าใคร ทำใจ ให้หลุดพ้น จากอาการเหล่านี้ได้มากเท่าไร ภพภูมิก็จะสูงขึ้นๆ จนสุดยอด ”
สรุปตรงนี้ก็คือ “ ในระหว่างที่จิตกำลังทรงตัวอยู่ในภาวะที่สูง และสูงขึ้นๆนั้นถ้าโรคเก่าของจิต ( โรค ๓ อย่างคือโลภ โกรธ หลง ) กำเริบขึ้นเมื่อใด ก็จะทำให้ คุณภาพของจิตทรุดต่ำลงทุกครั้งตามมาก ตามน้อย คล้ายๆกับอาการไข้ ซึ่งเป็นโรคทางกาย เมื่อไข้กำเริบขึ้น กำลังกายก็ลด เมื่อไข้ลด กำลังกายก็ดีขึ้น ” เมื่อเข้าใจพื้นฐานตรงนี้แล้ว ทีนี้ก็วกเข้าสู่ ประเด็นซะที “ ที่ว่าอาการของจิตที่คิดจะฆ่า ทำให้ฐานะของจิตทรุดต่ำลงนั้น ก็เพราะว่าจิต ที่คิดฆ่านั้น มีโรคเก่ากำเริบอย่างหนึ่ง คือความโหดร้าย ( โทสะ ) ถ้าความโหดร้ายกำเริบขึ้น สุดทางของความโหดร้ายก็คือ ฆ่า ความโหดร้าย นี้กำเริบมากหรือน้อย แล้วแต่ลักษณะของการฆ่า
ฆ่ามดตัวหนึ่ง ก็กำเริบนิดเดียว ฆ่าแมวตัวหนึ่ง ก็กำเริบแรงกว่าฆ่ามด จึงฆ่าได้ ถ้าฆ่าวัวตัวหนึ่ง อาการโหดร้าย ก็แรงกว่าฆ่าแมว ยิ่งถ้าฆ่าคน อาการโหดร้ายก็ยิ่งกำเริบหนักขึ้นไปอีก จนกระทั่งฆ่าพระอรหันต์ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ จะทำได้ก็ต่อเมื่อความโหดร้ายรุนแรงขึ้นอย่างหนัก
อาการโหดร้ายที่กำเริบขึ้น มากบ้าง น้อยบ้าง ทำให้ใจเราทรุดต่ำลง ตามมากตามน้อยไม่มีเว้นการที่เราสูญเสียคุณภาพอันดีของจิตไป และภาวะอันเลวมาไว้ในจิตเพิ่มขึ้น นี่แหละเรียกว่าได้บาป
ที่ว่าฆ่าสัตว์ได้ บาปนั้น ได้อย่างนี้ คือ ได้ขึ้นในจิตของผู้ฆ่าเอง ข้อพิสูจน์ ว่าได้บาปแน่หรือก็สังเกตที่ใจของผู้ฆ่าเองหลังจากฆ่า ถ้าเพียงแต่บี้มดสักตัวหนึ่ง และพื้นใจของผู้นี้ บาปอยู่แล้ว ก็อาจไม่รู้สึกว่า มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนโยนเมล็ดงาลง ไปบนพื้นดิน ตาม หาก็เจอยาก แต่ถ้าพื้นใจของผู้นั้นสะอาดอยู่ก่อน ก็เห็นบาปง่าย เหมือนโยนเมล็ดงา ลงบนผ้าขาวสะอาดเห็นง่าย แต่ถ้าฆ่าคนสักคนหนึ่งสิ เห็นชัดเลย ว่า จิตของผู้ฆ่าใน ตอนก่อน กับตอนหลังฆ่าต่างกันถนัดทีเดียว หลังจากฆ่า จิตจะดิ้นรน กระสับกระส่าย ทำให้อยู่ไม่สุข ยิ่งถ้าฆ่าพ่อฆ่าแม่ของตนเองด้วยแล้ว คนที่ จะฆ่าลง จะต้องมีความโหดร้าย กำเริบสุดขีดแล้วจนสภาพจิตหมดดี เอาจริงๆ ท่านเรียกบาปขนาดนี้ว่า “อนันตริยกรรม ” เป็นจิตที่ถูกบาปเผาไหม้ จนหาชิ้นดียาก เหมือนไข้กำเริบถึงขนาดแล้ว คนไข้ก็ชักตายไปเท่านั้น ฆ่าสัตว์ได้บาปจริงอย่างนี้ และได้มาก ได้น้อย ก็ด้วยเหตุอย่างนี้”
โ ด ย : พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์