หลักธรรมนำสุขในยุค 2000
โดย : พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)

เรื่องที่ ๒๑ : คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม


"...คุณค่าของวัตถุนั้น เราอาจจะแยกออกได้ ๒ ส่วน คือ คุณค่าแท้ กับ คุณค่ารอง

ตัวอย่างปัจจัย ๔

เสื้อผ้านี้ คุณค่าแท้ของมันคืออะไร ? คือเพื่อปกปิดร่างกาย ป้องกันความละอาย แก้ความหนาว ความร้อน เป็นต้น นี่คือประโยชน์แท้ หรือคุณค่าแท้ของมัน แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชนแล้ว มันไม่แค่นั้น มันจะมีคุณค่ารองอีก

คุณค่ารองนี้คืออะไร ? คือสิ่งที่จะให้เกิดความรู้สึกสวยงาม โก้หรูหรา อวดกัน วัดกัน อะไรต่างๆ เป็นต้น นี้คือคุณค่ารอง หรือคุณค่าเทียม

อย่างเราใช้รถยนต์ มันก็จะมีคุณค่าแท้ส่วนหนึ่ง และสำหรับบางคนก็จะมีคุณค่ารองอีกส่วนหนึ่ง

คุณค่าแท้คืออะไร ? คุณค่าแท้ก็คือใช้เป็นยานพาหนะ นำเราไปสู่ที่หมาย ด้วยความรวดเร็ว... แนวความคิดที่ควบกับคุณค่านี้ก็คือ พยายามให้สะดวกและปลอดภัย ทนทานที่สุด

คุณค่ารองก็คือว่า เราจะต้องให้โก้ เป็นสิ่งแสดงฐานะอะไรต่างๆเป็นต้น... ความคิดที่ควบกับคุณค่าแบบนี้ ก็คือต้องพยายามให้สวย ให้เด่นที่สุด ถึงสิ่งอื่นๆก็เหมือนกัน

ที่อยู่อาศัย ก็มีคุณค่าแท้ คือให้เป็นที่พักพิงหลบภัย และเป็นที่ที่เราจะได้ดำรงชีวิตส่วนเฉพาะของเรา ในครอบครัวของเรา ให้มีความสุข หรืออะไรก็ตามแต่... แต่ก็มีคุณค่ารองอีกเหมือนกัน ในความหมายของปุถุชน เช่นการแสดงฐานะ แสดงความหรูหรา หรืออะไรก็ตามแต่

สิ่งทั้งหลาย ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา ทางวัตถุนี้ ปุถุชนมักจะมีคุณค่าอยู่ 2 คือคุณค่าแท้ กับคุณค่ารอง พุทธศาสนายอมรับคุณค่าแท้ คุณค่าแท้นี่แหละสำคัญ พระบวชมา ท่านจะให้พิจารณา ปฏิสังขาโย เช่น เวลาฉันบิณฑบาต ให้พิจารณา บอกว่า ปฏิสังขา โยนิโส ปิณฑปาตัง ปฏิเสวามิ... ข้าพเจ้าได้พิจารณาโดยแยบคาย จึงฉันอาหาร อย่างนี้เป็นต้น พิจารณาอย่างไร ? ท่านก็บอกต่อไปว่า ฉันเพื่ออะไร ? คือให้เรารู้ว่า ที่เราฉันนี่ ฉันเพื่อให้มีกำลัง กาย จะได้มีชีวิตเป็นไป แล้วเราจะได้ทำหน้าที่ของเรา อะไรต่ออะไรได้ เป็นอยู่สบาย นี่คือคุณค่าแท้ ต่อไปคุณค่ารองก็คือ เอร็ดอร่อย ต้องมีเครื่องประดับเสริม ต้องไปนั่งในภัตตาคารให้หรูหรา อาจจะเป็นมื้อละพัน หรือมื้อละหมื่นก็มี แต่ว่าคุณค่าทางอาหาร บางทีก็เท่ากับมื้อละ 20 บาท 15 บาท แต่ว่ามื้อละพัน หรือมื้อละ 15 บาท คุณค่าที่จำเป็น คุณค่าแท้ต่อชีวิต เท่ากัน ส่วนคุณค่ารอง หรือคุณค่าเทียม ไม่เท่ากัน

ในชีวิตของปุถุชนนี้ คุณค่ารองเป็นเรื่องสำคัญ แล้วคุณค่ารองนี้แหละ ที่ทำให้เกิดปัญหาแก่มนุษย์มากที่สุด ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากความแร้นแค้นยากจน อันเป็นสาเหตุทางเศรษฐกิจเป็นปัญหา สำคัญมาก พุทธศาสนายอมรับ แต่ความชั่วร้ายในสังคม ที่เกิดจากคุณค่ารอง หรือ คุณค่าเทียมของสิ่งทั้ง หลายนั้น มากมายกว่า คนเรานี้ แสวงหาคุณค่ารองกันมากมายเหลือเกิน แล้วปัญหามันก็เกิดขึ้นนานาประการทีเดียว เป็นปัญหาขนาดใหญ่ และมีผลกว้างไกลกว่าปัญหาที่คนยากจนสร้างขึ้น เป็นตัวการสำคัญซ่อนอยู่เบื้องหลังการเกิดปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรง

เพราะฉะนั้น สำหรับพระ จึงต้องพยายามมุ่งคุณค่าแท้ให้คงอยู่ ส่วนฆราวาสนั้น ขอให้ตระหนักไว้ อย่าเพลิน อย่าลืม อย่าประมาท อย่าหลงเกินไป ฆราวาสเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่อย่างพระ แต่ว่าอย่าหลงลืม อย่ามัวเมา ต้องพยายามคำนึง คอยตระหนักถึงคุณค่าแท้ไว้ด้วย ว่าเราใช้สิ่งนี้ เพื่อประโยชน์ที่แท้จริง คืออะไร อย่าลืมตัวจนเลยเกินไป..."




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย