"หลวงปู่มั่นกับนาคราช"
"หลวงปู่มั่นกับนาคราช"
" .. เมื่อครั้งอยู่เชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์(หลวงปู่มั่นฯ) จำพรรษาอยู่บนเขากับชาวมูเซอ มีพระมหาทองสุกเป็นเพื่อน ใกล้ที่พักเป็นลำธาร มีน้ำไหลตลอดทั้งปี อาศัยน้ำนั้นใช้อุปโภคบริโภค
มึนาคราชตนหนึ่งชื่อว่า "สุวรรณนาคราช" อาศัยอยู่ลำธารนั้น พร้อมด้วยบริวาร "นาคราชตนนี้เคยเป็นน้องชายท่านพระอาจารย์มั่นหลายภพหลายชาติ" ด้วยความสับสนแห่งภพจึงมาเกิดเป็นนาคราช เขารักเคารพและให้การอารักขาเป็นอย่างดี เวลาเดินจรงกรมจะมาอารักขาตลอด จนกว่าจะเลิกเดิน
หลายวันต่อมา นาคนั้นหายไป เกิดฝนไม่ตกร้อนอบอ้าว ข้าวไร่เริ่มขาดน้ำไม่งอกงาม เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นประมาณ ๑๕ -๑๖ วัน จึงได้เห็นหน้านาคนั้น
- ท่านพระอาจารย์ถามว่า "หายไปไหน"
- นาคราชตอบ "ไปขัดตาทัพอยู่ปากทาง(ลำธาร) ลงสู่แม่น้ำปิง"
- ท่านพระอาจารย์ "ทำไม"
- นาคราช "มีนาคอันธพาลตนหนึ่ง อาศัยอยู่แถวนั้นจะเข้ามา เลยไม่มีโอกาศแต่งฝน มัวแต่ไปขัดตาทัพอยู่"
- ท่านพระอาจารย์ "ให้เขาเข้ามาเป็นไร เพราะเป็นนาคเหมือนกัน"
- นาคราช "ไม่ได้ เข้ามาแล้ว มารังแกข่มเหงเบียดเบียนบริวาร"
- ท่านพระอาจารย์ "เป็นไปได้หรือ"
- นาคราช "ก็เหมือนมนุษย์และสัตว์ทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ พวกอันธพาลก็มักจะล้ำแดนของกันและกัน เราต้องต่อสู้ป้องกันตัว"
- ท่านพระอาจารย์จึงรู้ว่า อันนี้เป็นลักษณะของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นตัวเหตุ โลกจึงวุ่นวาย
ช่วงเย็นฝนตกอย่างหนักจนถึงสว่าง น้ำในลำธารเต็มไปหมด ข้ามไปบิณฑบาตไม่ได้ พระมหาทองสุกคิดได้ จึงเอาไม้ไผ่มาปักเรียงกัน เอาเถาวัลย์ที่ชาวบ้านนำมาทำกุฎิ มาผูกกับต้นไม้ฝั่งนี้ จับปลายข้างหนึ่ง ลอยตัวข้ามไปผูกไว้กับอีกฝั่งโน้น แล้วกลับมานำบริขารของพระอาจารย์และตนข้ามไปฝั่งโน้น แล้วกลับมาพาท่านพระอาจารย์ประคองไปตามราวไม้ไผ่ ข้ามฝั่งทั้งขาไปและขากลับ
แปลกแต่จริง ขาไปผูกเถาวัลย์ ท่านมหาจับไปตามราวและขากลับลอยคอไป พอตอนนำพระอาจารย์ไปและกลับ ปรากฏว่า "เหมือนเดินเหยียบไปบนแผ่นหิน มีน้ำปรากฏแค่เข่าเท่านั้น"
ท่านมหาสุกเล่าว่า "เราไมได้คิดอะไรมาก คิดแต่ความปลอดภัยเท่านั้น"
ตกตอนเย็น เมื่อเห็นนาคราชมาอารักขา
- ท่านพระอาจารย์ถามว่า "ทำไมให้ฝนตกมากนัก"
- นาคราชว่า "ห้ามเขาไม่ฟัง เพราะละเลยมานาน"
- ท่านพระอาจารย์ "ทำให้เราลำบาก"
- นาคราช "ท่านก็เดินบนหลังข้าพเจ้าไปสบายอยู่นี่"
- ท่านพระอาจารย์ก็บอกว่า "เราไม่ว่าพวกท่านดอก บ่นไปเฉย ๆ อย่างนั้นล่ะ" .. "
..
"รำลึกวันวาน"
หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ