จะเลือกเป็นอย่างไร ระหว่าง แก่ลายคราม กับ แก่กะโหลกกะลา


หลายๆ คนรังเกียจความแก่ เพราะหนังก็เหี่ยว หน้าก็ย่น ผมก็ขาว ฟันก็ร่วง เดินกระย่องกระแย่ง เป็นต้น แต่เราคงเคยได้ยินวลีว่า ‘แก่ลายคราม’ ซึ่งเปรียบเปรยความแก่เหมือนเครื่องลายครามที่มีค่า ค่าจะอยู่ตรงไหน อย่างไร

เมื่อเราอายุมากแล้ว ประสบการณ์ย่อมมากตามอายุ สำหรับผู้มีปัญญา การมีประสบการณ์มากคือกำไร เพราะประสบการณ์คือบทเรียนชีวิต คนแก่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งขาขึ้นขาลง เห็นความเจริญความเสื่อมในหลายรูปแบบ หลายครั้งหลายหน ฉะนั้นเมื่อเกิดความเจริญหรือความเสื่อมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คนแก่ก็ไม่ตื่นเต้นหรือตกใจกลัวอย่างคนหนุ่มคนสาว เพราะเคยผ่านอาการอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว ‘เออ...นี่ต้องระวังนะ’ ‘มันก็คงไม่แน่นอนหรอก’ ‘เจริญแล้วมักจะเสื่อม’ รู้ว่ามีเกิดมีดับ สามารถวางใจเป็นกลาง เป็นอุเบกขา

คนรุ่นใหม่อาจจะดูถูกคนแก่ที่ปล่อยวางว่าเหมือนเป็นคนไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีความรู้สึกอะไร ไม่ยินดียินร้าย แต่การไม่ยินดียินร้ายนั้น ไม่ใช่เพราะอายุมาก แต่เพราะประสบการณ์มาก ได้เห็นการเกิดดับ ความเปลี่ยนแปลง ความเจริญ ความเสื่อม เห็นความเสื่อมที่แฝงอยู่ในความเจริญ เห็นความเจริญที่แฝงอยู่ในความเสื่อม เห็นด้วยจิตของนักศึกษาผู้ใคร่ศึกษาเรื่องชีวิต ใคร่ศึกษาในความเป็นมนุษย์ของตน ทำให้เกิดปัญญา

อย่างไรก็ตาม ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเองและไม่ได้เป็นผลของอายุเท่านั้น ไม่ใช่ว่าผ่านประสบการณ์มากมายในชีวิตแล้วปัญญาจะเกิดเอง บางคนไม่ว่าจะอายุ ๓๐ ๔๐ ๕๐ หรือ ๖๐ ก็ยังเหมือนเดิม ยังคงหวังแต่ลาภยศ สรรเสริญสุข หวังความเจริญ และเศร้ากับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์อยู่อย่างนั้นร่ำไป นั่นเป็นเพราะเขาไม่เคยคิดจะเรียนรู้จากประสบการณ์

แล้วเราล่ะ จะเลือกเป็นอย่างไร ระหว่าง ‘แก่ลายคราม’ กับ ‘แก่กะโหลกกะลา’

พระอาจารย์ชยสาโร

3,357







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย