รากเหง้าของความกลัวคือความเชื่องมงายว่ากายกับใจเป็น เรา เป็น ของเรา


ความกลัวไม่ใช่กิเลส หากเป็นอาการของความทุกข์ซึ่งเป็นผลของกิเลส เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปุถุชน รากเหง้าของความกลัวคือความเชื่องมงายว่ากายกับใจเป็น “เรา” เป็น “ของเรา” ซึ่งแปลว่าจะต้องมีสิ่งที่ไม่ใช่ “เรา” ไม่ใช่ “ของเรา” อยู่ด้วย ตรงนี้แหละที่เป็นจุดกำเนิดของตัณหาอุปาทานซึ่งส่งผลให้เกิดความกลัว เมื่ออยากได้ก็กลัวว่าจะไม่ได้ หรือกลัวพลัดพรากจากสิ่งนั้น ความกลัวกับความโกรธสัมพันธ์กัน ใครหรืออะไรทำให้เรากลัว เราจะโกรธคนนั้นโกรธสิ่งนั้น สิ่งที่ทำให้เรากลัวและโกรธมากที่สุดคือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อครอบครัวหรือคนที่เรารัก แม้แต่คนที่ใจเย็นไม่เคยคิดเบียดเบียนใคร ก็อาจเปลี่ยนเป็นคนละคนเพื่อปกป้องสิ่งที่ตนรัก

เมื่อพื้นฐานของความกลัวคือความยึดมั่นถือมั่นในกายในใจ กลัวแล้วก็คิดปรุงแต่งเป็นความวิตกกังวลต่างๆ นานา จนเกิดความโกรธ วิธีแก้ก็คือการคิดบ่อยๆ ว่า เราเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เราเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เราเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เราต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะต้องรับผลของกรรมนั้นๆ สืบไป เราควรจะสวดบทสวดนี้ทุกวันๆ พร้อมคิดตามด้วย

ปัจจุบันคนกลัวโควิด กลัวเราและคนที่เรารักติดเชื้อ กลัวพลัดพราก กลัวผลกระทบ วิตกกังวลต่างๆ นานา ท่านว่าเมื่อโควิดเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เราต้องไม่ประมาท ฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง เป็นการปฏิบัติด้วยสติด้วยปัญญา แล้วเราต้องรับผิดชอบจิตใจของเราด้วย อย่าคิดกลัวคิดปรุงแต่ง แต่จะห้ามจะเก็บกดคงไม่ได้ พยายามดูกายดูใจในปัจจุบัน เพื่อกิเลสที่อาศัยการไม่ดูกายไม่ดูใจจะลดน้อยลง เปิดช่องเปิดโอกาสให้ปัญญาเกิดขึ้นเป็นที่พึ่งได้

พระอาจารย์ชยสาโร

3,182







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย