"การเป็นอยู่ในขณะปัจจุบันเช่นนี้ ก็คือการไม่ตกเป็นทาสของตัณหา ... แต่เป็นการเป็นอยู่ด้วยปัญญา"
อาการที่ว่าตามดูรู้ทัน มีสาระสำคัญอยู่ที่ ให้รู้เห็นตามที่มันเป็นในขณะนั้น คือ ดู-เห็น-เข้าใจ ว่าอะไร กำลังเป็นไปอย่างไร ปรากฏผลอย่างไร เข้าไปอยู่ต่อหน้าหรือพร้อมหน้า รับรู้ พิจารณา เข้าใจ ตามดูมันไปให้ทันทุกย่างขณะเท่านั้น ไม่สร้างปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นในใจ ไม่มีการคิดกำหนดค่า ไม่มีการคิดวิจารณ์ ไม่มีการวินิจฉัยว่า ดีชั่ว ถูกผิด เป็นต้น ไม่ใส่ความรู้สึก ความโน้มเอียงในใจ ความยึดมั่นต่างๆ ลงไปว่า ถูกใจไม่ถูกใจ ชอบ ไม่ชอบ เป็นต้น เพียงเห็นเข้าใจตามที่มันเป็น ของสิ่งนั้น อาการนั้น แง่นั้นๆ เองโดยเฉพาะ ไม่สร้างความคิดผนวกว่า ของเรา ของเขา ตัวเรา ตัวเขา นาย ก. นาย ข. เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น ตามดูเวทนาในใจของตนเอง ขณะนั้น มีทุกข์เกิดขึ้น ก็รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์นั้นเกิดขึ้นอย่างไร กำลังจะหมดสิ้นไปอย่างไร หรือตามดูธรรมารมณ์ เช่น มีความกังวลใจเกิดขึ้น เกิดความกลุ้มใจขึ้น ก็ตามดูความกลุ้มหรือกังวลใจนั้นว่า มันเกิดขึ้นอย่างไร เป็นมาอย่างไร หรือเวลาเกิดความโกรธ พอนึกได้ รู้ตัวว่าโกรธ ความโกรธก็หยุดหายไป จับเอาความโกรธนั้นขึ้นมาพิจารณาคุณโทษ เหตุเกิดและอาการที่มันหายไป เป็นต้น กลายเป็นสนุกไปกับการศึกษาพิจารณาวิเคราะห์ทุกข์ของตน และทุกข์นั้นจะไม่มีพิษสงอะไรแก่ตัวผู้พิจารณาเลย เพราะเป็นแต่ตัวทุกข์เองล้วนๆ ที่กำลังเกิดขึ้น กำลังดับไป ไม่มีทุกข์ของฉัน ฉันเป็นทุกข์ ฯลฯ
แม้แต่ความดี ความชั่วใดๆ ก็ตาม ที่มีอยู่ หรือปรากฏขึ้นในจิตใจขณะนั้นๆ ก็เข้าเผชิญหน้า ไม่เลี่ยงหนี เข้ารับรู้ตามดูมันตามที่มันเป็นไป ตั้งแต่มันปรากฏตัวขึ้น จนมันหมดไปเอง แล้วก็ตามดูสิ่งอื่นต่อไป เหมือนดูคนเล่นละคร หรือดุจเป็นคนข้างนอกมองเข้ามาดูเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นท่าทีที่เปรียบได้กับแพทย์ที่กำลังชำแหละตรวจดูศพ หรือนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังสังเกตดูวัตถุที่ตนกำลังศึกษา ไม่ใช่ท่าทีแบบผู้พิพากษาที่กำลังพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นการดูเห็นแบบสภาววิสัย (objective) ไม่ใช่สกวิสัย (subjective)
อาการที่เป็นอยู่โดยมีสติสัมปชัญญะตลอดเวลาเช่นนี้ มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือมีชีวิตอยู่ในขณะปัจจุบัน กล่าวคือสติตามทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เป็นไปอยู่ หรือกระทำอยู่ขณะนั้นๆ แต่ละขณะๆ ไม่ปล่อยให้คลาดกันไป ไม่ติดข้องค้างคาหรืออ้อยอิ่งอยู่กับอารมณ์ที่ผ่านล่วงไปแล้ว ไม่ลอยคว้างไปข้างหน้าเลยไปหาสิ่งที่ยังไม่มาและยังไม่มี ไม่เลื่อนไหลถอยลงสู่อดีต ไม่เลื่อนลอยไปในอนาคต
หากจะพิจารณาเรื่องราวในอดีต หรือสิ่งที่พึงทำในอนาคต ก็เอาสติกำหนดจับสิ่งนั้นมาให้ปัญญาพิจารณาอย่างมีความมุ่งหมาย ทำให้เรื่องนั้นๆ กลายเป็นอารมณ์ปัจจุบันของจิต ไม่มีอาการเคว้งคว้างเลื่อนลอยละห้อยเพ้อ ของความเป็นอดีตหรืออนาคต
การเป็นอยู่ในขณะปัจจุบันเช่นนี้ ก็คือการไม่ตกเป็นทาสของตัณหา ไม่ถูกตัณหาล่อไว้ หรือชักจูงไปนั่นเอง แต่เป็นการเป็นอยู่ด้วยปัญญา ทำให้พ้นจากอาการต่างๆ ของความทุกข์ เช่น ความเศร้า ซึม เสียดาย ความร้อนใจ กลุ้ม กังวล เป็นต้น และทำให้เกิดความรู้ พร้อมทั้งความปลอดโปร่งผ่องใสเบาสบายของจิตใจ
ลิงก์พุทธธรรมออนไลน์
https://book.watnyanaves.net/buddhadhamma/index.php?cid=335
ลิงก์เสียงอ่านพุทธธรรม
https://sound.watnyanaves.net/A01/16/A01-16-12.mp3