"พุทโธ เป็นของเลิศในโลก" (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
.
"พุทโธ เป็นของเลิศในโลก"
" .. "เราบริกรรมพุทโธ ๆ ๆ ไปนาน ๆ เข้า จิตก็จะค่อยคลายความฟุ้งซ่าน" แล้วจะค่อยมารวมเข้ามาอยู่กับพุทโธ จิตจะตั้งมั่นเป็นอารมณ์อันเดียวกับพุทโธ จนเห็นจิตที่ว่า "พุทโธอันใดจิตก็อันนั้น อยู่ตลอดทุกเมื่อ" ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใด ๆ ก็เห็นจิตใสแจ๋วอยู่กับพุทโธนั้น
เมื่อได้ถึงขนาดนั้นแล้ว "ขอให้ประคองจิตนั้นไว้ในอารมณ์นั้น นานแสนนานเท่าที่จะนานได้" อย่าเพิ่งอยากเห็นนั่นเห็นนี่ หรืออยากเป็นนั้นเป็นนี้ก่อนเลย "เพราะความอยากเป็นอุปสรรคแห่งจิตที่เป็นสมาธิอย่างร้ายแรง"
เมื่อความอยากเกิดขึ้นสมาธิก็จะเสื่อมทันที "สมาธิเสื่อมเพราะหลักสมาธิ คือพุทโธไม่มั่นคง" คราวนั้นแหละคว้าหาหลักอะไรก็ไม่ได้ เกิดความเดือดร้อนใหญ่ คิดถึงแต่อารมณ์ที่เคยได้รับสมาธิความสงบสุขเมื่อก่อน จิตก็ยิ่งฟุ้งใหญ่ ฯลฯ
"ฝึกหัดสมาธิให้เหมือนชาวนาทำนา" เขาไม่รีบร้อน เขาหว่านกล้า ไถ คราด ปักดำ โดยลำดับ ไม่ข้ามขั้นตอนแล้วรอให้ต้นข้าวแก่ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่เห็นเมล็ดไม่เห็นรวงเลย แต่เขาก็มีความเชื่อมั่นของเขาว่า จะมีเมล็ดมีรวงวันหนึ่งข้างหน้าแน่ ๆ
"เมื่อต้นข้าวแก่แล้วออกรวงมาจึงเชื่อแน่ว่าจะได้รับผลแน่นอน" เขาไม่ไปดึงต้นข้าวให้ออกรวงเอาตามใจชอบ ผู้ไปกระทำเช่นนั้นย่อมไร้ผลโดยแท้ "การฝึกสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน จะรีบร้อนข้ามขั้นตอนย่อมไม่ได้" ต้องตั้งจิตให้เลื่อมใสศรัทธาให้แน่วแน่ว่า "อันนี้ล่ะเป็นคำบริกรรมที่จะทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้แท้จริง" .. "
"ฝึกหัดสมาธิโดยบริกรรมพุทโธ"
(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย