ถ้ายังไปหวั่นไหวความสุข หรือความทุกข์
ที่เกิดขึ้นในระหว่างภาวนาเพ่งพินิจอยู่นั้น เช่นนี้แล้ว
ไม่มีทางจิตมันจะรวมลงได้
มีแต่มันจะกระเด็นออกไปข้างนอกโน้น
ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ ในอดีตที่ล่วงแล้วมาบ้าง
อนาคตบ้าง ไปเรื่อยเปื่อยไปแล้ว
เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นผู้ภาวนาให้พึงข้าใจ
ไม่ใช่ว่า นั่งภาวนา ลงไปแล้วอย่างนี้
มันจะสบายไปเลยไม่ต้องออกแรงอะไร
จึงจะ ชื่อว่าตนภาวนาเป็น อย่าไปเข้าใจอย่างนั้น
ก็เพราะว่ามันมีกิเลสเป็น มารอยู่ในหัวใจนี่แหละ
พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ภาวนา
เมื่อมันมีกิเลส เป็นตัวมารอยู่ในใจแล้วอย่างนี้
เวลาเราภาวนากำหนดใจจะละมัน อย่างนี้
มันก็ต้องเล่นงานเราแน่นอนละ
มันไม่อยากหนีจากเรา เป็นอย่างนั้น
เราก็ต้องรู้ไว้ เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วเห็นว่า
กิเลสมัน แสดงปาฏิหาริย์อะไรออกมา
มันก็ไม่หวั่นไหว เราพยายามตั้งสติ
ประคองจิตให้แน่วแน่อยู่
ไม่ต้องเสียใจดีใจกับอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น
มีแต่โน้มเข้าสู่ความสงบอย่างเดียว
มีแต่น้อมจิตลงให้เป็นกลางลงไป
มุ่งต่อความเป็นกลางนั้นเป็นที่ตั้งเลยทีเดียว
สุขก็ไม่ยึดถือเอา ทุกข์ไม่ยึดถือเอา
เพราะว่าสุขทุกข์มันเป็นสังขาร
มันมีเกิด มันมีดับ อยู่นั้น ไม่แน่นอนเลย
ลองสังเกตดู ความสุขเมื่อมันเกิดขึ้นไปๆ
มันก็ดับลงได้ เดี๋ยวก็ทุกข์เกิดขึ้นมาแทน
แล้วทุกข์เกิดขึ้นมา
ก็ไม่ใช่ ว่ามันจะตั้งยั่งยืนอยู่ตลอดไป
ประเดี๋ยวประด๋าวมันก็ดับไป
แล้วก็ สุขเกิดขึ้นมาแทน สลับกันไปอยู่อย่างนี้แหละ
เมื่อผู้มีปัญญามาเจริญวิปัสสนา
มาเห็นแจ้งว่า อารมณ์ แห่งความสุขความทุกข์นี่
เป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนอะไรเลย
เกิด แล้วดับไปอยู่อย่างนั้น
เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว
ก็ไม่ยินดียินร้าย ไปกับสุขกับทุกข์...ดังกล่าวมาแล้วนั้นแหละ
เราฝึกจิตสอนจิตนี้ให้เป็น ให้รู้เท่าสุข
รู้เท่าทุกข์อยู่อย่างนี้แหละ
การภาวนาอย่าไปเข้าใจไปอย่างอื่น
เมื่อจิตใจมันรู้เท่าอารมณ์ต่างๆ ดังกล่าวมานี้ได้แล้ว
มันรวมเป็นหนึ่งลงไปได้แล้ว
นั้นแหละมันถึงจะพบกับความสุขที่แท้จริง
ถ้าหากว่ายังปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นยังไม่ได้
มันก็ยังไม่ได้ พบความสุขอันแน่นอน
ขอให้เข้าใจอย่างนั้น
:: หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ