สัปปุริสธรรม (การรู้จักวางตัว) : หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ท่านให้ใช้ปัญญา ให้เลือกหรือว่าให้วางตัว
ให้รู้จักพยายามอ่านเรื่องราว
อ่านเรื่องของโลกและการเป็นอยู่ในสิ่งรอบด้าน
อ่านกระทั่งตัวเองด้วย ท่านจึงมีธรรมคำสอน "สัปปุริสธรรม"
สัปปุริสธรรม คือ ธรรมของสัตบุรุษ
สัตบุรุษคือเป็นบุคคลที่มีความคิด มีความอ่าน
มีคล้ายๆกับว่าเป็น "สุภาพบุรุษ" ลักษณะอย่างนั้น
ถ้าเป็นภาษาเราเขาเรียกว่าสุภาพบุรุษ
เป็นผู้มีมารยาทที่ดี เป็นผู้มีสัมมาคารวะ
ทางธรรมก็เรียกว่า เป็นผู้มีคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมที่ดี
เป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม
ไปอยู่ ณ สถานที่ใด ใกล้ใคร ก็ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
การพูดจาพาที ก็อยู่ในสัมมาวาจา ไม่มีวาจาอันหยาบคาย
ไม่มีวาจาอันจ้วงจาบที่จะดูถูกเหยียดหยามคนอื่น
ถ้าจะดูถูกก็ดูถูกแบบว่า มันไม่ถูก มันจะถูกได้ไงเมื่อทำไม่ถูก
นี้ก็คือ พูดให้รู้จัก มิใช่ว่าเอามาก่นมาด่ากัน จนถึงดูๆแล้วผู้ที่ฟังน่ะรับไม่ได้
ผู้ที่อยู่ภายนอกรู้สึกว่า ภาษาพ่อขุนราม ภาษาไหนขนมาพูดกันหมด
ภาษาพ่อขุนราม คือ อะไร กูมึง มีแต่กูกับมึง ลักษณะอย่างนั้น
ภาษาดั้งเดิมของคนไทยเป็นอย่างนั้นภาษาพ่อขุนราม
เพราะฉะนั้นพวกลูกหลานทุกวันนี้ก็เลยเอาภาษาดั้งเดิมมาพูดกัน
ดูๆแล้วก็ชักจะเกินไปนะหลวงพ่อว่านะ หลวงพ่อได้ยินทุกวันนี้
รู้สึกว่า ไม่สบายใจในการใช้ภาษาดุด่าดุดันกันเกินไป
ตามความเป็นจริงถ้าหากผู้ได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว
ควรจะรู้จักในการวางตัวในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ท่านว่า "ธัมมัญญุตา" ความเป็นผู้รู้จักเหตุ
เหตุนี้มันมาจากไหน มันถึงเป็นอย่างนี้ เรียกว่า ธัมมัญญุตา
"อัตถัญญูตา" เป็นผู้รู้จักผล ผลตัวนี้มันมาจากเหตุอันใด
มันจึงมาเป็นผลอันนี้ เรียกว่า อัตถัญญุตา
จากนั้นก็ "อัตตัญญุตา" ความเป็นผู้รู้จักตน
อัตตัญญุตาเป็นผู้รู้จักตน คล้ายๆว่ามองดูตัวเองว่า
เราอยู่ในสถานะอย่างนี้เมื่อเข้าไปสู่ชุมชน
เราควรปฏิบัติตนอย่างไร หน้าที่การงาน
ยศถาบรรดาศักดิ์ ความเป็นอยู่ของเรา
อย่างนี้เราควรวางตัวอย่างไร อันนี้ว่า อัตตัญญุตา
"มัตตัญญุตา" เป็นผู้รู้จักประมาณตน
ว่าสถานะของเราอย่างนี้ควรจะบริโภคยังไง
ควรจะใช้สอยยังไง ควรจะเก็บหอมรอมริบอย่างไร
ในฐานะของตนเอง ลักษณะอย่างนี้
จากนั้นก็ "กาลัญญูตา" ความเป็นผู้รู้จักกาล เวลา
กาลเช่นนี้ เวลาอย่างนี้ เราควรทำยังไง
ไม่ใช่ว่า หน้าแล้งมาเราไปตกกล้า
พอหน้าฝนก็ไปทำอีกที่เขาต้องการแดดต้องการความแห้งแล้ง
มันไม่รู้จักกาล มันก็ไม่ถูกอีกเหมือนกัน
"ปริสัญญุตา" รู้จักประชุมชน
เมื่อประชุมชนกลุ่มนี้เมื่อเข้ามาหา
ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเข้ามาหาประชุมชนอย่างนี้
ควรวางตัวอย่างไรอย่างที่หลวงพ่อได้พูด
ประชุมชนเขาสนุกสนานเพลิดเพลินเฮฮา
หมอลำซิ่ง หมอลำกลอน..ตัวเองไปนั่งสมาธิ
หลับตาปี๋...มันก็เข้ากันไม่ได้
เมื่อเราเป็นอย่างนั้น ไปอยู่ในสถานที่อย่างนั้น
ถ้าเราไม่ไปอยู่ก็ทำให้มันถูกต้องกับปริสัญญุตากับชุมชนนั้นๆ
เราวางตัวให้ถูกสรุปแล้ว
แล้วก็ "ปุคคลปโรปรัญญุตา" เมื่อเข้าไปหาบุคคล
บุคคลคนนี้เมื่อเข้าไปหาแล้ว ควรจะทำตนอย่างไร
ควรจะพูดอย่างไร ควรจะทำอากัปกิริยา
แสดงความเคารพอย่างไร อันนี้เราก็ต้องรู้จักอีกเหมือนกัน
นั่นล่ะ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่านวางเอาไว้
สัปปุริสสัตบุรุษ สัตบุรุษ..สัปปุริสธรรม ธรรมของสัตบุรุษ
ควรวางตัวอย่างไร เรียกว่า ธัมมัญญุตา - เป็นผู้รู้จักเหตุ
อัตถัญญุตา - เป็นผู้รู้จักผล อัตตัญญุตา - ให้รู้จักตน
มัตตัญญุตา - ให้รู้จักประมาณ ประมาณตัวของตัว
กาลัญญุตา - ให้รู้จักกาลเวลา ปริสัญญุตา - ให้รู้จักประชุมชน ประชาชน
ปุคคลปโรปรัญญุตา - ให้รู้จักบุคคลที่ควรคบหรือไม่ควรคบอย่างไร ให้เลือกคบ
...
พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก
วัดป่านาคำน้อย
บ้านนาคำน้อย ต.บ้านก้อง
อ.นายูง จ.อุดรธานี