ค้นหาในเว็บไซต์ :

หลักธรรมนำสุขในยุค 2000
โดย : พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)

เรื่องที่ ๒๔ : สูงสุดคือจุดนี้


"....สิ่งทั้งหลาย ที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปต่างๆ มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นเป็นธรรมดา เพราะมันอยู่ในกฎธรรมชาติอย่างนั้น ไม่มีใครไปแก้ไขได้ แต่ที่มันเป็นปัญหาก็เพราะว่า ในเวลาที่มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาตินั้น มันพลอยมาเบียดเบียนจิตใจของเราด้วย เพราะอะไร ?... ก็เพราะเรายื่นแหย่ใจของเราเข้าไปใต้อิทธิพลความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาตินั้นด้วย

ดังนั้น เมื่อสิ่งเหล่านั้นปรวนแปรไปอย่างไร ใจของเราก็พลอยปรวนแปรไปอย่างนั้นด้วย เมื่อมันมีอันเป็นไป ใจของเราก็ถูกบีบคั้น ไม่สบาย แต่พอเรารู้เท่าทัน ถึงหลักธรรมชาติแล้ว กฎธรรมชาติ ก็เป็นกฎธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายที่เป็นธรรมชาติ ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ทำไมเราจะต้องเอาใจของเราไปให้กฎธรรมชาติบีบคั้นด้วย เราก็วางใจของเราได้

ความทุกข์ที่มีในธรรมชาติ ก็เป็นของธรรมชาติไป ใจของเราไม่ต้องเป็นทุกข์ไปด้วย ตอนนี้ แหละ ที่ท่านเรียกว่า มีจิตใจเป็นอิสระ จนกระทั่งว่า แม้แต่ทุกข์ที่มีในกฎของธรรมชาติ ก็ไม่สามารถมาเบียดเบียนบีบคั้นใจเราได้ เป็นอิสรภาพแท้จริง ที่ท่านเรียกว่า วิมุตติความสุขจากความเป็นอิสระ ถึงวิมุตติ ที่มีปัญญารู้เท่าทันพร้อมอยู่นี้ เป็นความสุขที่สำคัญพอถึงสุขขั้นนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องไปพึ่งอาศัยสิ่งอื่นอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม มันจะกลายเป็นความสุขที่เต็มอยู่ในใจของเราเลย และเป็นสุขที่มีประจำอยู่ตลอดเวลา เป็นปัจจุบัน

ความสุขที่เรานึกถึง หรือใฝ่ฝันกันอยู่นี้ มักเป็นความสุขที่อยู่ในอนาคต คือเป็นความสุขที่หวังอยู่ข้างหน้า และอิงอาศัยสิ่งอื่นแต่พอมีปัญญา รู้เท่าทันความจริงแล้ว จะเกิดความสุขที่อยู่ในตัวเป็นประจำ และมีอยู่ตลอดเวลาเป็นปัจจุบันทุกขณะ กลายเป็นว่า ความสุขเป็นเนื้อเป็นตัว เป็นชีวิตจิตใจของเราเอง พอถึงตอนนี้ ก็ไม่ต้องหาความสุขอะไรอีก ถ้ามีอะไรมาเสริม ให้ความสุขเพิ่มขึ้น เราก็มีความสุขที่เป็นส่วนแถม และเราก็มีสิทธิเลือกตามสบาย ว่าจะเอาความสุขนั้นหรือไม่ ไม่มีปัญหา และเมื่อสุขแถมนั้นไม่มี ก็ไม่เป็นไร เราก็สุขอยู่ตลอดเวลา

ตอนนี้ท่านเรียกว่า ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเองอีก พลังงานชีวิตที่เหลืออยู่ ก็ยกให้เป็นประโยชน์แก่โลก นี่แหละเป็นสุขที่สมบูรณ์ และก็เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ด้วย..."



หลักธรรมนำสุขในยุค 2000 โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย