ค้นหาในเว็บไซต์ :




วิปัสสนา


กิเลสเกิดจากอะไร

เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า ทั้งความโลภและความโกรธ ล้วนมีสาเหตุมาจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยกันทั้งสิ้น กล่าวคือ ถ้ายึดมั่นพร้อมกับความรู้สึกยินดีพอใจ ก็จะทำให้เกิดแรงดูดคือความโลภ แต่ถ้ายึดมั่นพร้อมกับความรู้สึกยินร้ายไม่พอใจ ก็จะทำให้เกิดแรงผลักคือความโกรธ ความขัดเคืองใจ


แล้วความยึดมั่นถือมั่นมีสาเหตุมาจากอะไร ?

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นเกิดจากการที่ไม่รู้ถึงธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ( โมหะ , อวิชชา , ความหลง , วิปัลลาส ) คือไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงล้วนไม่ควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งทั้งปวงล้วนเป็นเพียงผลของเหตุของปัจจัย เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดที่มีอำนาจเฉพาะตน ไม่มีสิ่งใดที่มีอำนาจเหนือตนหรือเหนือสิ่งที่อื่นจากตน สิ่งที่ทำได้ก็เพียงแค่การสร้างเหตุสร้างปัจจัยได้บ้างเท่านั้น ซึ่งเหตุปัจจัยที่สร้างได้นั้นก็เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของเหตุปัจจัยอันมากมายที่คอยกลุ้มรุมห้อมล้อม คอยปรุงแต่งสิ่งต่าง ๆ ให้แปรปรวนไปตลอดเวลา ถ้าร่างกายหรือจิตใจนี้อยู่ในอำนาจของเราแล้ว ในโลกนี้ก็คงจะไม่มีใครเลยที่เป็นทุกข์ เพราะทุกชีวิตก็คงจะบังคับตนเองให้เป็นสุขตลอดเวลา แต่ที่โลกนี้เต็มไปด้วยทุกข์ ก็เพราะร่างกายและจิตใจนี้ ทั้งภายในและภายนอก ล้วนไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งสิ้น ถ้าใครขืนไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจแล้ว ก็มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่หวังได้


ถ้ามองอย่างผิวเผินแล้วจะเห็นว่า คนที่เป็นคนดีมีคุณธรรมก็เพราะจิตใจของเขานั้นดี คนที่เป็นคนไม่ดีขาดศีลธรรมก็เพราะจิตใจของเขาไม่ดี ความจริงแล้วนั่นเป็นเพียงปลายเหตุ เพราะแท้จริงแล้วคนที่เป็นคนดีนั้นไม่ใช่เพราะเขาอยากเป็นคนดี และคนที่ไม่ดีก็ไม่ใช่เพราะเขาอยากเป็นคนไม่ดี แต่เป็นเพราะจิตแต่ละดวงนั้นผ่านเหตุผ่านปัจจัยมาต่างกัน ทำให้จิตทั้งหลายมีสภาพมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน และมีความจำได้หมายรู้ ( สัญญา ) ในสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันไป คือมีทัศนคติหรือโลกทัศน์ที่ต่างกันไป จึงทำให้มีการปรุงแต่ง คือมีความรู้สึกนึกคิดที่ต่างกันไป มีความต้องการที่แตกต่างกันไป จึงทำกรรมแตกต่างกันไป นั่นคือการที่คนเป็นคนดีหรือไม่ดีนั้น แท้จริงแล้วล้วนเป็นผลของเหตุของปัจจัยด้วยกันทั้งสิ้น


ถ้าลองคนที่คนนิยมกันว่าเป็นคนดีนั้นไปผ่านเหตุผ่านปัจจัยที่ไม่ดีเข้าอย่างมากพอและต่อเนื่อง เขาก็จะกลายเป็นคนไม่ดี ( ยกเว้นอริยบุคคล เพราะเชื้อแห่งความไม่ดีได้ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ) และคนที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีนั้น ถ้าได้ผ่านเหตุปัจจัยที่ดีอย่างมากพอและต่อเนื่อง เขาก็จะกลายเป็นคนดีเช่นกัน ตัวอย่างเช่นองคุลีมาลย์ เมื่อผ่านเหตุปัจจัยต่าง ๆ เข้าก็เป็นลูกศิษย์ที่ครูอาจารย์รักใคร่ เพราะความมีนิสัยดี ขยันหมั่นเพียร และเฉลียวฉลาด แต่พอผ่านเหตุปัจจัยที่ไม่ดีเข้าก็กลายเป็นมหาโจรที่น่ากลัว และเมื่อผ่านเหตุปัจจัยที่ดีอีกครั้ง ก็กลายเป็นพระอรหันต์ที่น่าเคารพนับถือ น่าบูชา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเพียงผลของเหตุของปัจจัยเท่านั้นเอง ถ้าจะโทษ ก็ควรโทษเหตุโทษปัจจัยถึงจะถูก จะไปโทษจิตซึ่งเป็นเพียงผลของเหตุของปัจจัยจะสมควรหรือ ?


ดังนั้น เว้นนิพพานแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจึงล้วนไม่เที่ยง ( อนิจจัง ) ถูกสิ่งต่าง ๆ บีบคั้นให้แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา จึงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้นาน ไม่มีสิ่งใดเลยที่ยึดมั่นถือมั่นแล้วจะไม่นำทุกข์มาให้ (ทุกขัง ) เพราะสิ่งทั้งปวงรวมทั้งนิพพาน ล้วนไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งสิ้น เป็นเพียงผลของเหตุปัจจัย ( อนัตตา ) อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ รวมเรียกว่าไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ คือเป็นธรรมชาติที่แท้จริง และเป็นลักษณะอันเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่งทั่วไปในอนันตจักรวาล


เพราะความไม่รู้ในธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ ( โมหะ )นั่นเอง ความยึดมั่นถือมั่น ( อุปาทาน ) จึงเกิดขึ้น เมื่ออุปาทานเกิดขึ้นแล้วความโลภและความโกรธ ( โทสะ ) ก็เกิดขึ้น ความทุกข์ทั้งหลายจึงเกิดตามมาเป็นทอด ๆ ดังนี้


หมายเหตุ

ตามหลักอภิธรรมแล้ว อุปาทานก็คือตัณหา ( ความทะยานอยาก , โลภะ ) ที่มีกำลังมากนั่นเอง และตามหลักปฏิจจสมุปบาทแล้ว ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือเมื่อปล่อยให้ความทะยานอยากหรือความเพลิดเพลินยินดี เกิดขึ้นบ่อย ๆ แล้วอุปาทานย่อมเกิดตามมา
ส่วนในที่นี้กล่าวว่าอุปาทานเป็นสาเหตุของความโลภนั้น หมายความว่า ตัณหาในเบื้องต้นเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานในเบื้องกลาง และอุปาทานในเบื้องกลางเป็นปัจจัยให้เกิดความโลภในลำดับต่อไป และความโลภที่เกิดขึ้นนี้ก็จะทำให้เกิดอุปาทานต่อไปอีกในอนาคต ทับถมซับซ้อนกันต่อไปไม่รู้จักจบสิ้น ในที่นี้จึงไม่ขัดแย้งกับหลักอภิธรรมและปฏิจจสมุปบาทแต่อย่างใด



วิปัสสนา
ทุกข์เกิดจากอะไร กิเลสเกิดจากอะไร กิเลสดังได้อย่างไร วิปัสสนาคืออะไร ฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ข้อควรจำสำหรับผู้ต้องการพ้นทุกข์ สัญโยชน์ 10 พุทธพจน์เกี่ยวกับวิปัสสนา อริยบุคคล 8 ประเภท อานาปานสติสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ อย่าทำวิปัสสนา-เพื่อหวังเกิดเป็นอะไร อริยบุคคล7ประเภท(ตามการบรรลุ) โพชฌงค์ 7 โยนิโสมนสิการ อาจารย์และศีลจำเป็นหรือไม่ รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น โทษของกาม ทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์ ศีลเป็นฐานของอริยมรรค ดอกไม้อริยะ สมถะกับวิปัสสนา การเจริญสัญญา 10 ประการ สมัยพุทธกาลมีผู้เข้าใจผิดเรื่องมรรคผล พิจารณาแล้วไม่เกิดปัญญาเสียที สุญญตาแนวเถรวาท การฝึกสติในชีวิตประจำวัน ธรรมชาติของชีวิต อริยบุคคลที่ต้องรีบบวช


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย