ค้นหาในเว็บไซต์ :




วิปัสสนา


อริยบุคคลที่ต้องรีบบวช


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม

อยากทราบว่าในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้หรือไม่ว่า อริยบุคคลระดับใด ที่จะอยู่ในเพศฆราวาสไม่ได้ จะต้องบวชทันที หรือภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะต้องละจากโลกนี้ไปทันที จะต้องเป็นระดับ อรหัตตมรรคขึ้นไปใช่หรือไม่

ได้ลองตั้งกระทู้ผ่านบาง web มีผู้ให้คำตอบว่า................

" เท่าที่ทราบ ก็บอกว่า ระดับพระอเสกขะเท่านั้น ที่ต้อง ห่มจีวร เป็นภิกษุ เพราะ

ในความเห็นของผมนะ เนื่องจากการเพ่งโทษ พระอรหันต์ นั้น ผลคือบาปหนัก ท่านจึงเมตตา ท่านจึงต้องเปลี่ยนเป็นห่มจีวร คนทั่วไปจะได้ไม่บาป

ว่ากันว่า กายปุถุชนไม่บริสุทธิ์พอ ท่านจึง ห่มจีวร หรือไม่ก็ ละสังขาร ไป "
แต่เท่าที่ทราบ ระดับพระอเสกขะ ก็คือผู้ที่อยู่ในระดับพระอรหันต์ขึ้นไป แสดงว่า คำตอบของคำถามที่ถามมาก็คือ ถ้าผู้ใดสำเร็จอรหัตตมรรค หรือ อรหัตตผล จะต้องบวชทันที ตามที่เข้าใจใช่หรือไม่ เพราะตอนนี้กำลังถกปัญหานี้กับเพื่อนอยู่ เพราะเพื่อนเข้าใจว่า ต้องเป็นระดับอนาคามีขึ้นไป ที่จะครองเพศฆราวาสไม่ได้ มิฉะนั้น จะต้องละสังขารจากโลกนี้ทันที

ช่วยตอบข้อสงสัยนี้ให้ด้วยนะคะ

ตอบ

ผู้ที่ต้องรีบบวชทันทีนั้นก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นครับ สำหรับอรหัตตมรรคบุคคลนั้นยังจัดเป็นเสกขบุคคลอยู่ และเนื่องจากว่าเป็นอยู่เพียงแค่ขณะจิตเดียวก็เข้าสู่อรหัตตผล คือเป็นพระอรหันต์ ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว คงกล่าวไม่ได้ว่าอรหัตตมรรคบุคคลต้องรีบบวชนะครับ เพราะเวลาเพียงแค่ขณะจิตเดียวนั้นบวชไม่ทันอยู่แล้ว

ในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็เช่น เมื่อภัททชิกุมารบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามบิดาของภัททชิกุมารว่า วันนี้บุตรของท่านควรจะบรรพชา หรือควรจะปรินิพพาน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ด้านล่างของเรื่องนี้ครับ)

ส่วนอนาคามีบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องบวชครับ ตัวอย่างในพระไตรปิฎกเช่น จิตตคฤหบดี ก็เป็นอนาคามีบุคคล แต่ก็ยังถือเพศเป็นคฤหัสถ์ ไม่ได้บวชเป็นภิกษุนะครับ (มีรายละเอียดอยู่ในอรรถกถานิคัณฐสูตรที่ ๘ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒ ว่า "จิตตคฤหบดี เป็นอริยสาวกชั้นอนาคามีบุคคล" ครับ)

ส่วนเหตุผลที่พระอรหันต์ต้องรีบบวชนั้น ตามความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเป็นเพราะท่านไม่มีความยึดมั่นสิ่งใดแล้ว จึงไม่มีแรงกระตุ้นอะไรให้ท่านอยู่ในทางโลกอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือญาติพี่น้อง ครอบครัว ทรัพย์สมบัติ ฯลฯ ท่านมองเห็นแต่ทุกข์โทษ ที่เกิดจากการครอบครองสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ และจากการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ

ดังนั้น ชีวิตทางโลกซึ่งท่านมองไม่เห็นประโยชน์สำหรับตัวท่านเอง และทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น (เผยแพร่ศาสนา) ได้น้อย จึงเป็นสิ่งที่คับแคบสำหรับท่านมาก ดังนั้น การปรินิพพานจึงประเสริฐกว่า ดังนั้น พระอรหันต์ที่ไม่ได้บวชจึงปรินิพพาน อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ

รายละเอียดเรื่องที่พระอรหันต์ครองเพศฆราวาสไม่ได้ ต้องรีบบวชมีดังนี้ครับ

อรรถกถามหาปนาทชาดกที่ ๔ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 115 (ข้อความจากหน้าที่ 117)

..... ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันสดับพระธรรมกถาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น. ภัททชิกุมารนั้นกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงมา แม้เราก็จักฟังธรรม แล้วประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวงเข้าไปพร้อมด้วยบริวารใหญ่ ยืนฟังพระธรรมกถาอยู่ท้ายบริษัท ยังสรรพกิเลสทั้งหลายให้สิ้นไป. บรรลุพระอรหัต (เป็นพระอรหันต์ - ธัมมโชติ) อันเป็นผลชั้นเลิศ.

พระศาสดาตรัสเรียกภัททิยเศรษฐีมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนมหาเศรษฐี บุตรของท่านประดับประดาตกแต่งแล้วฟังธรรมกถาได้ดำรงอยู่ในพระอรหัต เพราะฉะนั้น วันนี้ บุตรของท่านควรจะบรรพชา หรือควรจะปรินิพพาน.

ภัททิยเศรษฐีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจด้วยการปรินิพพานแห่งบุตรของข้าพระองค์ย่อมไม่มี ขอพระองค์จงให้บุตรของข้าพระองค์นั้นบรรพชาเถิด พระเจ้าข้า .....



วิปัสสนา
ทุกข์เกิดจากอะไร กิเลสเกิดจากอะไร กิเลสดังได้อย่างไร วิปัสสนาคืออะไร ฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ข้อควรจำสำหรับผู้ต้องการพ้นทุกข์ สัญโยชน์ 10 พุทธพจน์เกี่ยวกับวิปัสสนา อริยบุคคล 8 ประเภท อานาปานสติสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ อย่าทำวิปัสสนา-เพื่อหวังเกิดเป็นอะไร อริยบุคคล7ประเภท(ตามการบรรลุ) โพชฌงค์ 7 โยนิโสมนสิการ อาจารย์และศีลจำเป็นหรือไม่ รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น โทษของกาม ทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์ ศีลเป็นฐานของอริยมรรค ดอกไม้อริยะ สมถะกับวิปัสสนา การเจริญสัญญา 10 ประการ สมัยพุทธกาลมีผู้เข้าใจผิดเรื่องมรรคผล พิจารณาแล้วไม่เกิดปัญญาเสียที สุญญตาแนวเถรวาท การฝึกสติในชีวิตประจำวัน ธรรมชาติของชีวิต อริยบุคคลที่ต้องรีบบวช


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย