ค้นหาในเว็บไซต์ :




วิปัสสนา


อานาปานสติสูตร

พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

[๒๘๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร (การปรุงแต่งของจิต - ธัมมโชติ) หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ว่าเรา จักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต (จากความโลภ ความโกรธ ความหลง จากความเย่อหยิ่งถือตัว ความเห็นผิด ความลังเลสงสัย จากความหดหู่ท้อถอย ความฟุ้งซ่าน จากความไม่ละอายบาป ไม่สะดุ้งกลัวบาป จากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง - ธัมมโชติ) หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็น ผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด (ความยินดี รักใคร่ในสิ่งทั้งปวง - ธัมมโชติ) หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว อย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างไร ทำ ให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อภิกษุหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้า ยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้านี้ ว่าเป็นกายชนิดหนึ่ง ในพวกกาย เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย (คือเห็นกายชนิดหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย - ธัมมโชติ) มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ ปีติ หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเรา จักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า สำเหนียก อยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ จิตสังขาร หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ ว่าเป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในพวกเวทนา เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนด รู้จิต หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจัก ทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก ว่าเราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก ว่าเราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจออก ว่าเราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าว อานาปานสติแก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุสำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณา ความไม่เที่ยง หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจออก ว่าเราจัก เป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจ ออก ว่าเราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วย ปัญญาแล้ว ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี เพราะฉะนั้นแล ในสมัยนั้น ภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ


[๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความ บริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความ พิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอ เมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอันปรารภ ความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณา ธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิส (ปิติที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีวัตถุมาล่อ - ธัมมโชติ) ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่นฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้ เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อมเป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อม เป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่ ในสมัยนั้น สติย่อม เป็นอันเธอผู้เข้าไปตั้งไว้แล้วไม่เผลอเรอ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความ บริบูรณ์แก่ภิกษุ เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความ พิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ เมื่อ เธอค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ย่อมเป็นอัน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง ถึงความพิจารณาธรรม นั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อม เป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ปีติปราศจากอามิส ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ปีติปราศจากอามิสเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภ ความเพียรแล้ว ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุ ชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิต ตั้งมั่นฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความ เจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้ เป็นอย่างดี ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึง ความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ฯ


[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้ มากแล้วอย่างไร จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย นิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ...
ย่อม เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ



วิปัสสนา
ทุกข์เกิดจากอะไร กิเลสเกิดจากอะไร กิเลสดังได้อย่างไร วิปัสสนาคืออะไร ฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ข้อควรจำสำหรับผู้ต้องการพ้นทุกข์ สัญโยชน์ 10 พุทธพจน์เกี่ยวกับวิปัสสนา อริยบุคคล 8 ประเภท อานาปานสติสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ อย่าทำวิปัสสนา-เพื่อหวังเกิดเป็นอะไร อริยบุคคล7ประเภท(ตามการบรรลุ) โพชฌงค์ 7 โยนิโสมนสิการ อาจารย์และศีลจำเป็นหรือไม่ รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น โทษของกาม ทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์ ศีลเป็นฐานของอริยมรรค ดอกไม้อริยะ สมถะกับวิปัสสนา การเจริญสัญญา 10 ประการ สมัยพุทธกาลมีผู้เข้าใจผิดเรื่องมรรคผล พิจารณาแล้วไม่เกิดปัญญาเสียที สุญญตาแนวเถรวาท การฝึกสติในชีวิตประจำวัน ธรรมชาติของชีวิต อริยบุคคลที่ต้องรีบบวช


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย