วิปัสสนา |
สัญโยชน์ หรือสังโยชน์ หรือสัญโญชน์ คือเครื่องผูกจิตเอาไว้ให้ติดอยู่กับสิ่งต่างๆ รวมถึงภพภูมิต่างๆ และวัฏสงสาร ทำให้จิตไม่เป็นอิสระ ต้องตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้น จึงสามารถฉุดกระชากลากจูงจิต ให้ต้องทนทุกข์ทรมานต่างๆ นานา ไม่อาจพ้นจากทุกข์ไปได้
เปรียบเหมือนเชลยที่ถูกข้าศึกเอาเชือกล่าม แล้วใช้ม้าลากให้เชลยนั้นถูลู่ถูกังไปกับพื้น ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสโดยไม่ปรานี
สัญโยชน์ 10 นี้มีอวิชชาเป็นแม่ทัพที่คอยบงการให้เสนาทั้ง 9 ลากจูงจิตไปในทิศทางต่างๆ เมื่อเสนาใดมีกำลังมากกว่าก็จะฉุดกระชากจิต ให้ถูลู่ถูกังไปในทิศทางของตน (ดูภาพด้านล่างประกอบ)
สัญโยชน์ 10 ประกอบด้วย
1.) สักกายทิฏฐิ : ความเห็นว่ารูปนี้นามนี้หรือกายนี้ใจนี้เป็นอัตตา เป็นตัวเป็นตนของเรา ควรแก่การยึดมั่นถือมั่น ผูกจิตไว้กับความเห็นแก่ตัวอย่างเหนียวแน่น
2.) วิจิกิจฉา : ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ ไม่ปักใจเชื่อในสิ่งเหล่านี้คือ
สงสัยว่าพระพุทธเจ้าผู้รู้ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง และปฏิบัติตามทางนั้นจนสำเร็จ ด้วยตัวพระองค์เองมาแล้ว มีจริงหรือไม่ (สงสัยในพระพุทธเจ้า)
สงสัยว่าสภาวะที่พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง และทางปฏิบัติเพื่อเข้าสู่สภาวะนั้น มีจริงหรือไม่ และทางไหนกันแน่ที่ถูกต้องแท้จริง (สงสัยในพระธรรม)
สงสัยว่าผู้ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าแนะนำ จนพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงแล้ว มีจริงหรือไม่ (สงสัยในพระสงฆ์)
ความไม่แน่ใจนี้ผูกจิตเอาไว้กับความไม่แน่วแน่ หรือความไม่จริงจังในการปฏิบัติในทางที่ถูก
3.) สีลพตปรามาส : การถือศีลพรตด้วยจุดมุ่งหมายที่ผิดทาง ทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากศีลหรือพรตนั้น อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจถึงขั้นได้รับโทษจากการถือศีลพรตนั้นเลยก็ได้ เช่น กิเลสหรือมานะ (ความถือตัว)งอกเงยขึ้น กลายเป็นคนหลงงมงาย หรือเป็นทุกข์ไปโดยเปล่าประโยชน์
สีลพตปรามาสนี้ผูกจิตไว้กับการปฏิบัติที่ผิดทาง หรือการปฏิบัติอย่างงมงาย
4.) กามฉันทะ : ความยินดี เพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย หรือเพลิดเพลินในความคิด อันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายนั้น
กามฉันทะนี้ผูกจิตไว้ให้ต้องตกเป็นทาสของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย เหมือนปลาที่ติดเบ็ดเพราะหลงใหลในเหยื่อที่ล่อเอาไว้ และผูกจิตไว้กับกามภูมิ
5.) ปฏิฆะ : ความกระทบกระทั่งภายในใจ ความขัดเคืองใจ ความโกรธ ความไม่สบายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ
ปฏิฆะนี้ผูกจิตไว้กับความทุกข์ทางใจต่างๆ นานา
6.) รูปราคะ : ความยินดี เพลิดเพลินในสมาธิขั้นรูปสมาบัติ หรือรูปฌาน คือสมาธิที่ใช้รูปธรรมเป็นเครื่องยึด เพื่อทำให้เกิดสมาธิ ตัวอย่างรูปธรรมเช่น ดิน น้ำ ไฟ อาการเคลื่อนไหว(ลม) ร่างกาย อวัยวะต่างๆ แสงสว่าง สีต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่เห็นในนิมิต (ภาพที่เกิดขึ้นขณะหลับตาทำสมาธิ)
รูปราคะนี้ผูกจิตไว้กับรูปภูมิ คือภูมิที่ผู้ได้สมาธิขั้นรูปฌานจะไปเกิดเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ในภูมินี้จะมีความสุขจากสมาธิเป็นหลัก ไม่สนใจในกามคุณทั้งหลาย
7.) อรูปราคะ : ความยินดี เพลิดเพลินในสมาธิขั้นอรูปสมาบัติ หรืออรูปฌาน อันพ้นจากความยินดีพอใจในรูปทั้งปวง คือสมาธิที่ใช้อรูป คือสิ่งที่ไม่ใช่รูปเป็นเครื่องยึด เพื่อทำให้เกิดสมาธิ ตัวอย่างของอรูปเช่น ช่องว่าง(อากาศ) สิ่งที่รับรู้ความรู้สึก(วิญญาณ) ความไม่มีอะไรเลย(อากิญจัญญายตนสมาบัติ) ความรู้สึกที่เหลืออยู่น้อยมาก จนแทบไม่มีความรู้สึกตัวเลย(เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ) คนที่ได้อรูปฌานนั้น จะไม่ยินดีในรูปใดๆ เลย จะยินดีพอใจในการไม่มีรูปเท่านั้น ไม่ยินดีแม้กระทั่งการมีร่างกาย เพราะมองเห็นแต่ทุกข์ และโทษที่เกิดจากการมีร่างกาย เมื่อตายแล้วจึงไปเกิดในภูมิที่ไม่มีร่างกาย คือมีเฉพาะจิตเพลิดเพลินอารมณ์อันเกิดจากสมาธิอยู่ ที่เรียกว่าอรูปภูมิ
อรูปราคะนี้ผูกจิตไว้กับอรูปภูมิ
8.) มานะ : ความถือตัว ความรู้สึกว่ารูปนี้นามนี้หรือกายนี้ใจนี้เป็นเรา ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับผู้อื่น ว่าเราเหนือกว่าเขา เราเสมอกับเขา หรือเราด้อยกว่าเขา
มานะนี้ผูกจิตไว้กับการเปรียบเทียบกับผู้อื่น ความชิงดีชิงเด่น ความถือตัว
9.) อุทธัจจะ : ความฟุ้งซ่านของจิต เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นของจิตคิดว่าสิ่งต่างๆ มีสาระ จิตจึงซัดส่ายไปหาสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่เนืองๆ ไม่อาจตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างแนบแน่น เป็นเวลานานๆ ได้
อุทธัจจะนี้ผูกจิตไว้กับความซัดส่ายรับอารมณ์ไม่มั่น
10.) อวิชชา :ความไม่รู้สภาวะที่แท้จริงของสรรพสิ่ง คือ ไม่รู้ในทุกข์ เหตุแห่งทุกข์(สมุทัย) สภาวะที่พ้นจากทุกข์อย่างสิ้นเชิง(นิโรธ-นิพพาน) ทางปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์อย่างสิ้นเชิง(มรรค) ไม่รู้ในกฎไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ไม่รู้ในหลักปฏิจจสมุปบาท (การที่สิ่งต่างๆ อิงอาศัยสิ่งอื่นๆ จึงเกิดขึ้นได้) ไม่รู้เรื่องเหตุปัจจัย ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงล้วนไม่ควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่น
อวิชชานี้ผูกจิตไว้กับวัฏสงสาร ภพภูมิทั้งปวง ความทุกข์ทั้งปวง และผูกจิตไว้กับสัญโยชน์ทั้งปวง