วิปัสสนา |
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้
คำถาม
ผมพยายามที่ทำวิปัสสนา โดยการพิจารณา อนัตตา ทุกขัง อนิจจัง แต่พิจารณาทีไรก็ไม่เกิดปัญญาเสียที เป็นเพราะอะไรครับ ต้องมีอะไรเพิ่มเติมหรือป่าว แม้ผมพยายามจะใช้สมาธิเป็นกำลังก็ได้แค่อุปจารสมาธิ ไม่ทราบว่าจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้างครับ
สงสัยมาก รบกวนให้ความกระจ่างด้วยครับ
ตอบ
1. เนื่องจากไม่ทราบว่าคุณ ..... ได้เคยปรารถนาพุทธภูมิเอาไว้หรือไม่ (ในอดีตชาติ) ถ้าคิดว่าตอนนี้อยากจะก้าวหน้าให้ได้มากที่สุด ก็ควรอธิษฐานยกเลิกคำอธิษฐานเก่าๆ ทั้งหมด ที่เป็นตัวขวางมรรคผล แล้วอธิษฐานจิตใหม่ ปรารถนามรรคผลโดยเร็วที่สุดแทน
2. การตั้งใจพิจารณาให้เกิดปัญญานั้นปัญญามักจะไม่ค่อยเกิดหรอกครับ นอกจากจะมีพื้นฐานเก่าอยู่มากพอ
ที่ควรทำก็คือ ตามรู้ตามสังเกตรูปนาม หรือร่างกายจิตใจไปเรื่อยๆ เพื่อศึกษาธรรมชาติของมัน (ใจเย็นๆ ต้องใช้เวลาครับ) เมื่อเห็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาเอง คือจะเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของมันด้วยปัญญาของเราเอง (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) แล้วความคลายจากความยึดมั่นถือมั่นก็จะตามมาโดยอัตโนมัติ
เหมือนกับมีคนบอกเราว่าอย่าไปโดนไฟ เพราะไฟมันร้อน แล้วเรามานั่งคิดพิจารณาเอาว่าไฟมันร้อน เราก็ไม่รู้จริงๆ หรอกครับว่าไฟมันร้อน เมื่อไม่รู้ด้วยปัญญาของเราเอง ความระมัดระวังก็ไม่เกิดขึ้น
แต่ถ้าเราได้มีโอกาสไปสัมผัสไฟด้วยตัวของเราเองเมื่อไหร่ ก็จะรู้ด้วยปัญญาของเราเองว่าไฟมันร้อนจริงๆ คือจะเกิดปัญญาขึ้นมาว่าไฟมันร้อน แล้วความระมัดระวังก็จะตามมาโดยอัตโนมัติครับ (ดูในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) เรื่องที่ 1 ถึงเรื่องที่ 6 ประกอบ โดยเฉพาะในเรื่องวิปัสสนาคืออะไร และเรื่องการเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน)
สรุปก็คือ ตามดูตามสังเกตรูปนามไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ ทำใจให้ผ่อนคลาย สบายๆ ไม่ต้องไปคาดหวังว่าปัญญาจะเกิดหรือไม่ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว จิตก็จะแล่นไปเองครับ คือเมื่อสั่งสมข้อมูลจากการสังเกตมากขึ้นเรื่อยๆ จนมากพอแล้ว และในขณะนั้นจิตอยู่ในสภาวะที่ประณีตมากพอ ก็จะเกิดอาการปิ๊ง คือปัญญาเกิดขึ้นมาเองครับ
แต่ถ้าพยายามไปเร่งอยากให้ปัญญาเกิดขึ้นเร็วๆ จิตจะดิ้นรน แข็งกระด้าง ทำให้ปัญญาเกิดได้ยากขึ้นไปโดยไม่รู้ตัวครับ
เรื่องการทำสมาธิแล้วได้ถึงขั้นอุปจารสมาธินั้น ขอตอบดังนี้ครับ
1. สมาธิขั้นนี้ก็มากพอสำหรับการทำวิปัสสนาแล้วครับ
2. การที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างฆราวาสทั่วไปนั้น ได้สมาธิขั้นอุปจาระก็นับว่าสูงมากแล้วครับ ถ้าจะให้ได้ถึงขั้นฌานก็ควรจะต้องหาที่สงบๆ แล้วให้เวลาอย่างจริงจังมากกว่านี้ ฌานนั้นไม่ใช่ได้ง่ายๆ เลยนะครับ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ