ค้นหาในเว็บไซต์ :




วิปัสสนา


รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น


ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้


คำถาม


ตอนนีผมได้ปฏิบัติถึงขั้นที่ว่าไม่สามารถจับความเคลื่อนไหวของท้องได้ เพราะว่ามันนิ่งมาก จากในตอนแรกที่พองยุบสังเกตได้อย่างชัดเจน


ตอบ


การเจริญวิปัสสนานั้น ก็คือการศึกษาธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือร่างกายและจิตใจ เพื่อให้รู้จักและเข้าใจรูปนามตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อเราดูรูปนามมากขึ้นเรื่อยๆ รูปนามก็จะแสดงธรรมชาติของมันให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ (ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปรปรวนไปตลอดเวลา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา เป็นเพียงผลของเหตุปัจจัย ยึดมั่นถือมั่นอะไรไม่ได้ เพราะถ้าขืนไปยึดเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น (ก็ไปยึดเอาสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจนี่น้า !) คาดหวังอะไรไม่ได้เลย ฯลฯ)


เมื่อเห็นธรรมชาติที่แท้จริงมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ก็จะลดน้อยถอยลงไป กิเลสต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปเช่นกัน จนถึงที่สุดกิเลสก็จะถูกทำลายลงไปได้อย่างถาวร (อ่านรายละเอียดได้จากเรื่องต่างๆ ในหมวดบทวิเคราะห์ และหมวดวิปัสสนา (ปัญญา))


อาการที่คุณ ..... บอกมานั้น ก็เป็นธรรมชาติที่รูปนามแสดงให้เห็นนั่นเองครับ มันกำลังแสดงให้เห็นความไม่เที่ยง ความแปรปรวนไป ความไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฯลฯ ของการเคลื่อนตัวของท้อง


สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ รับรู้ตามสภาพที่ปรากฏในขณะนั้น ถ้าคุณใช้คำบริกรรมว่า "พองหนอ ยุบหนอ" อยู่ เมื่อมันไม่พองไม่ยุบแล้ว ก็เปลี่ยนเป็น "นิ่งหนอ" หรือ "รู้หนอ" แทน คือรู้ว่าตอนนี้มันเป็นอย่างนี้ (อาการเป็นยังไงก็บริกรรมไปอย่างนั้น) แล้วก็คอยดูคอยสังเกตมันต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะแสดงธรรมชาติของมันออกมาเรื่อยๆ เอง แล้วคุณก็จะรู้และเข้าใจธรรมชาติของรูปนามมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ


ในขณะที่สังเกตอาการทางกาย ก็คอยสังเกตอาการทางใจประกอบไปด้วย เช่น สงบนิ่ง ฟุ้งซ่าน สบายใจ กลุ้มใจ กังวล สงสัย ตกใจ กลัว แล้วก็บริกรรมตามสภาพที่ปรากฏนั้นประกอบไปด้วย เช่นเดียวกับอาการทางกาย


ในขณะเดียวกันก็พยายามหา "เรา" ให้เจอ (คือหาว่าสิ่งที่คุณรู้สึกว่าเป็นเรานั้นอยู่ตรงไหน หรือคืออะไร เช่น อาจจะรู้สึกว่า สมอง หรือ หัวใจ กระดูก ร่างกายทั้งหมด จิต ความรู้สึก ความคิด ความจำ ฯลฯ คือเรา หรือ เป็นเรา)


เมื่อเจอ "เรา" แล้ว ก็คอยดู คอยสังเกต "เรา" นั้นไปเรื่อยๆ ทั้งเวลาที่ทำกรรมฐาน และเวลาที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน จนกระทั่งหลับไปในที่สุด คือรู้ตัวเมื่อไหร่ก็สังเกตเมื่อนั้น แล้วสิ่งที่คุณคิดว่าคือ "เรา" นั้น ก็จะแสดงธรรมชาติที่แท้จริงให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ


แล้วคุณก็จะรู้ได้ด้วยตนเองว่าสิ่งนั้นสมควรจะถูกเรียกว่า "เรา" หรือ "ของๆ เรา" หรือ "ตัวตนของเรา" หรือไม่ สิ่งนั้นควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่นหรือไม่


เมื่อสังเกตมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว บางครั้ง "เรา" ก็อาจจะย้ายจุดไปอยู่ที่อื่น (เช่น เดิมรู้สึกว่าจิตคือเรา ต่อมากลับรู้สึกว่าความจำต่างหากที่เป็นเรา ต่อมาก็อาจย้ายไปที่จุดอื่นอีก ฯลฯ) ถ้าความรู้สึกว่าเป็น "เรา" ย้ายไปอยู่ที่จุดอื่น ก็ย้ายจุดในการดู ในการสังเกต ตาม "เรา" นั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหา "เรา" ไม่เจอในที่สุด


ลองคิดดูให้ดีเถิดว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา นำทุกข์มาให้สารพัดอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา เอาแน่อะไรไม่ได้ คาดหวังอะไรไม่ได้เลย ฯลฯ นั้นสมควรหรือที่จะเรียกว่าเป็น "เรา" หรือ "ของๆ เรา" หรือ "ตัวตนของเรา"


ถ้าจะถือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็น "เรา" แล้ว อย่างน้อยสิ่งนั้นก็ควรจะอยู่ในอำนาจ และเป็นไปตามที่ใจปรารถนาได้ตลอดเวลาไม่ใช่หรือ


ไม่ใช่แค่บางครั้งก็บังเอิญได้เหตุปัจจัยที่เหมาะสมก็เป็นอย่างที่ต้องการ แต่ถ้าไม่บังเอิญอย่างนั้นก็กลับกลายเป็นอย่างอื่น เช่น เมื่อมีเหตุให้สุขก็สุข มีเหตุให้ทุกข์ก็ทุกข์ มีเหตุให้โกรธก็โกรธ มีเหตุให้ดีใจก็ดีใจ มีเหตุให้เสียใจก็เสียใจ มีเหตุให้ป่วยก็ป่วย ฯลฯ ทั้งที่ไม่ได้อยากจะให้ทุกข์ ให้โกรธ ให้เสียใจ ให้เจ็บป่วย ฯลฯ เลยสักนิดเดียว


เมื่อรู้และเข้าใจธรรมชาติของรูปนามมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว อานิสงส์ของมันก็จะปรากฏให้เห็นเอง คุณก็จะสัมผัสได้ถึงความปลอดโปร่ง โล่งใจ เบาสบาย เหมือนยกภูเขาออกจากอก (ภูเขาคือสิ่งต่างๆ ที่เคยยึดมั่นถือมั่นเอาไว้)

 



วิปัสสนา
ทุกข์เกิดจากอะไร กิเลสเกิดจากอะไร กิเลสดังได้อย่างไร วิปัสสนาคืออะไร ฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ข้อควรจำสำหรับผู้ต้องการพ้นทุกข์ สัญโยชน์ 10 พุทธพจน์เกี่ยวกับวิปัสสนา อริยบุคคล 8 ประเภท อานาปานสติสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ อย่าทำวิปัสสนา-เพื่อหวังเกิดเป็นอะไร อริยบุคคล7ประเภท(ตามการบรรลุ) โพชฌงค์ 7 โยนิโสมนสิการ อาจารย์และศีลจำเป็นหรือไม่ รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น โทษของกาม ทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์ ศีลเป็นฐานของอริยมรรค ดอกไม้อริยะ สมถะกับวิปัสสนา การเจริญสัญญา 10 ประการ สมัยพุทธกาลมีผู้เข้าใจผิดเรื่องมรรคผล พิจารณาแล้วไม่เกิดปัญญาเสียที สุญญตาแนวเถรวาท การฝึกสติในชีวิตประจำวัน ธรรมชาติของชีวิต อริยบุคคลที่ต้องรีบบวช


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย