วิปัสสนา |
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้
คำถาม
เคยอ่านเจอจากที่ใดไม่ทราบ ลืมแหล่งไปแล้วค่ะ บอกว่าวิปัสสนาเป็นทางตรง สมถะทำให้แวะ
ตอบ
ขออธิบายเพิ่มเติมเรื่องสมถะ(สมาธิ) กับวิปัสสนา อีกนิดนะครับ (ป้องกันการเข้าใจผิด)
ที่บางท่านกล่าวว่าสมถะเป็นทางอ้อม หรือเป็นการแวะพักผ่อนข้างทางนั้น ความจริงแล้วขึ้นกับการนำไปใช้ครับ (สังเกตได้ว่าไม่เคยเจอตรงไหนที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามการทำสมาธิเลยนะครับ) ขอแยกอธิบายเป็นกรณีดังนี้ครับ
1. ถ้าทำสมาธิแล้วมัวหลงใหล เพลิดเพลินอยู่กับสมาธิ ไม่กระตือรือร้นที่จะเจริญวิปัสสนา อย่างนั้นก็เป็นทางอ้อมอย่างมากครับ หรืออาจเรียกว่าผิดทางเลยก็ได้ บางสำนักกลัวเกิดกรณีนี้ขึ้นจนถึงกับห้ามนั่งสมาธิเลยก็มีครับ
หรือบางคนอาจถึงขั้นหลงผิด คือด้วยอำนาจของสมาธิที่สามารถข่มกิเลสบางตัวได้ชั่วคราวนั้น ทำให้เข้าใจผิดคิดว่ากิเลสตัวนั้นๆ หมดไปแล้วจริงๆ เลยคิดว่าตนได้บรรลุมรรค/ผล ขั้นนั้นขั้นนี้แล้วก็มี กรณีนี้ก็คงต้องเรียกว่าหลงทางนะครับ
2. การทำสมาธิไปด้วย พร้อมกับเจริญวิปัสสนาไปด้วยควบคู่กันไป อย่างนี้ก็จะเกื้อหนุนกันครับ คือผลของสมาธิก็ทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญาได้ง่ายขึ้น และผลของวิปัสสนา (ความปล่อยวาง, ความไม่ยึดมั่น) ก็ทำให้นิวรณ์ (สิ่งขวางกั้นสมาธิ) เกิดน้อยลง หรือลดกำลังลงไป ทำให้สมาธิเกิดได้ง่ายขึ้นเช่นกันครับ อย่างนี้ก็คงไม่น่าเรียกว่าเป็นทางอ้อมนะครับ โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานทางสมาธิอยู่ก่อนแล้ว
3. การใช้สมาธิให้เป็นฐานของวิปัสสนาโดยตรง วิธีที่ 1. คือ การพิจารณาธรรมชาติของสมาธิ คือความไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา ไม่อยู่ในอำนาจ เสื่อมได้ง่าย เอาแน่อะไรไม่ได้ ยึดมั่นอะไรไม่ได้ ฯลฯ (คือคนที่ได้สมาธิขั้นสูงนั้น ก็มักจะยึดมั่นในสมาธิ เหมือนกับว่าสมาธิเป็นที่พึ่งพิงทั้งหมดของชีวิต เห็นสมาธิเป็นสรณะ พอใช้วิธีนี้แล้วทำให้หมดความยึดมั่นในสมาธิไปได้ ก็จะส่งผลให้หมดความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไปด้วยเช่นกัน)
4. การใช้สมาธิให้เป็นฐานของวิปัสสนาโดยตรง วิธีที่ 2. คือ วิธีที่เรียกว่าวิชชา 3 (วิธีเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) คือเมื่อทำสมาธิจนถึงขั้นจตุตถฌาน (ฌานที่ 4.) ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของรูปฌานแล้ว ก็ฝึกอภิญญาต่อไป จนกระทั่งได้วิชชา 3 คือ
1.) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกชาติได้
2.) จุตูปปาตญาณ คือได้ตาทิพย์มองเห็นสัตว์กำลังตายบ้าง กำลังเกิดบ้าง
มีอาการดีบ้าง เลวบ้าง ตามกรรมของตน
3.) อาสวักขยญาณ คือปัญญาที่ทำให้กิเลสทั้งหลายสิ้นไป
กรณีที่ 3. และ 4. นี้ก็ขึ้นกับพื้นฐานของสมาธิที่มีอยู่เดิมครับ คือ
ถ้าเดิมมีสมาธิถึงขั้นนั้นอยู่แล้ว ก็ใช้สมาธินั้นเป็นฐานเจริญวิปัสสนาได้ทันที
อย่างนี้ก็ไม่เป็นทางอ้อมครับ แต่เป็นทางที่เร็วด้วยซ้ำไป แต่ถ้าพื้นฐานทางสมาธิเดิมมีไม่พอ
ทำให้ต้องมาเสียเวลาฝึกสมาธิให้ถึงขั้นที่ต้องการซะก่อน แล้วถึงจะทำวิปัสสนา
อย่างนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นทางอ้อมครับ