วิปัสสนา |
ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น
เมื่อมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จิตใจก็จะมีความประณีตขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสไปเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นกัน และเมื่อบรรลุมรรคผลในขั้นต่างๆ
แล้ว ก็จะไม่มีโอกาสไปเกิดในภพภูมิต่ำๆ อีกต่อไป ตามคุณสมบัติของมรรคผลขั้นนั้นๆ
(ดูเรื่องอริยบุคคล 8 ประเภท ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ)
การได้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ เหล่านี้ ขอให้ถือว่าเป็นเพียงผลพลอยได้ของการทำวิปัสสนาเท่านั้น
อย่าได้ถือเป็นจุดมุ่งหมายของการเจริญวิปัสสนาเป็นอันขาด เช่น อย่าคิดว่าจะเจริญวิปัสสนาเพื่อจะได้ไปเกิดในดุสิตเทวโลก
หรือเพื่อไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ เพราะความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้น จะเป็นตัวขวางกั้นมรรคผล
ทำให้มรรคผลเกิดได้ยาก หรือไม่สามารถเกิดได้เลย
ทั้งนี้ก็เพราะความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ เป็นสภาวะจิตที่ประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นในภพภูมิต่างๆ ประกอบไปด้วยตัณหาในภพ ซึ่งเป็นสภาวะจิตที่ตรงกันข้ามกับมรรคผลนิพพาน อันเป็นสภาวะจิตที่พ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง ในภพภูมิทั้งปวง พ้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัดจิตทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นตัณหาในการเกิด หรือตัณหาในการไม่เกิด คือไม่ยึดมั่นทั้งในการเกิดและการไม่เกิด แต่จะรับรู้ในสภาวะต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ทั้งในปัจจุบัน อดีต และที่จะปรากฏในอนาคต ตามสภาพความเป็นจริง โดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่น ปราศจากทั้งแรงดูดและแรงผลักทั้งปวง เป็นสภาวะที่เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง
ดังนั้น ความคาดหวังในภพภูมิต่างๆ หรือแม้แต่ความคาดหวังในมรรคผลขั้นต่างๆ (ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะหมายถึงความยึดมั่นถือมั่นในมรรคผลขั้นนั้นๆ) ย่อมจะเป็นตัวขัดขวางมรรคผลนิพพานทั้งสิ้น จะมากหรือน้อยก็ขึ้นกับความรุนแรงของความรู้สึกนั้นๆ
เพื่อความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัตินั้น ผู้ปฏิบัติควรมีเป้าหมายที่ความหลุดพ้น (จากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง) แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในเป้าหมายนั้นด้วย มีเพียงความรู้สึกที่เป็นกลางๆ อยู่เท่านั้น (ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ทำได้ยาก)
ถ้าจะให้ง่ายกว่านั้น ก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายใดๆ เลย เพียงแต่ทำวิปัสสนาเพื่อศึกษาธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม หรือของร่างกายจิตใจเท่านั้น แล้วหลังจากนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ตามความเหมาะสมของความรู้และปัญญาที่เกิดขึ้น